Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบตำนานสร้างโลกของคนไทยกลุ่มต่างๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศไทย อันได้แก่ ไทอาหม ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน ไทยวน-ล้านนา อีสาน ลาว ไทดำ ไทขาว และจ้วง ทั้งนี้โดยใช้วิธีการทางคติชนวิทยาและมานุษยวิทยาในการศึกษาโครงสร้างและเนื้อหาของตำนานสร้างโลกของคนไททั้งสำนวนบอกเล่าและสำนวนลายลักษณ์ที่รวบรวมมาได้ 50 สำนวน เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อดั้งเดิมของคนไทเกี่ยวกับการสร้างโลกการสร้างมนุษย์ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของคนไทแต่ละกลุ่ม โดยพิจารณาจากความแตกต่างและความเหมือนคล้ายของตำนานสร้างโลกของคนไทยแต่ละกลุ่ม การวิเคราะห์โครงสร้างของตำนานสร้างโลกของคนไทด้วยระเบียบวิธีทางคติชนวิทยา ทำให้แยกประเภทของตำนานสร้างโลกได้ 3 แบบเรื่อง คือ แบบเรื่องประเภทปู่สังกะสา-ย่าสังกะสีสร้างโลก แบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้า และแบบเรื่องประเภทเทวดาลงมากินง้วนดิน แบบเรื่องประเภทปู่-ย่าสร้างโลกพบมากในกลุ่มตำนานไทลื้อ ไทเขิน ไทยวน-ล้านนา และอีสาน แบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้าพบมากในกลุ่มตำนานลาว ไทดำ ไทขาว และแบบเรื่องเทวดาลงมากินง้วนดินพบในตำนานทางล้านนา และตำนานไทใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งแบบเรื่องประเภทหลังนี้ได้อิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสมน ส่วนตำนานสร้างโลกของไทอาหม ซึ่งนับเป็นชนชาติไทที่อยู่ตะวันตกสุด กับตำนานของจ้วงซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุด แม้โครงเรื่องจะไม่ตรงทีเดียวนักกับแบบเรื่องทั้ง 3 แบบซึ่งพบในตำนานสร้างโลกส่วนใหญ่ของชนชาติไท แต่ก็ยังคงปรากฏแนวคิดเรื่องมีผู้สร้างโลก มีผู้สร้างมนุษย์ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้เลือนไปจากความเชื่อของคนไทยภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามากแล้ว การวิเคราะห์เนื้อหาของตำนานสร้างโลกของคนไทสะท้อนระบบคิดและวัฒนธรรมของคนไทหลายประการ ประการแรก ชี้ให้เห็นว่าคนไทดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ ตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีความเชื่อดั้งเดิมเรื่องมีผู้สร้างโลก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของปู่สังกะสา-ย่างสังกะสีสร้างโลก สร้างมนุษย์ หรือปู่แถนที่นำน้ำเต้าที่บรรจุมนุษย์ไว้ลงมายังโลก ประการที่สอง ตำนานสร้างโลกของคนไทไม่ว่าจะเป็นแบบเรื่องแบบใด สะท้อนระบบคิดและความเชื่อที่อธิบายให้เห็นว่าคนไทเป็น "ลูกฟ้า" มีชาติกำเนิดและความสัมพันธ์กับสวรรค์ตำนานของคนไทบางกลุ่มเน้นให้เห็นว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นผู้ที่ถูก "ฟ้าส่งมา" หรือสืบเชื้อสายมาจากเทวดาบนสวรรค์ ในแง่นี้ตำนานสร้างโลกจึงเป็นสิ่งอธิบายสถานภาพทางสังคมของคนไทและผู้ปกครองที่เป็นชาติพันธุ์ไท ประการที่สาม ตำนานสร้างโลกของคนไทเกือบทุกกลุ่มสอดแทรกเนื้อหาเรื่องปู่-ย่าง หรือแถนสอนให้คนไททำนาปลูกข้าว เป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมข้าวเป็นสิ่งที่เป็นแก่นและอยู่คู่กับวัฒนธรรมของคนไทมาตั้งแต่ดั้งเดิม ประการที่สี่ ตำนานของกลุ่มลาว ไทดำ ไทขาวสะท้อนวิถีชีวิตและปริบททางสังคมที่คนไทต้องสัมพันธ์กับคนชาติพันธุ์อื่นๆ จึงอธิบายกำเนิดมนุษย์ในลักษณะที่เป็นพี่น้องกับคนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ออกมาจากน้ำเต้าเดียวกัน อย่างไรก็ตามตำนานก็สะท้อนระบบคิดที่จำแนกคนไท-ลาว ออกจากคนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นข่า ขมุ ลาว แกว ฮ่อ ในแง่นี้ตำนานจึงเป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ไทว่า "ไท" ต่างจากคนชาติพันธุ์อื่นอย่างไรด้วย จากการวิเคราะห์บริเวณที่มีการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นของตำนานสร้างโลกทั้ง 3 แบบ เรื่องหลักพบว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางกินอาณาเขตตั้งแต่ตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของไทย ตอนเหนือของลาวเป็น "ชุมทาง" ที่เป็นแหล่งปะทะสังสรรค์ของชนชาติไทหลายกลุ่ม แม้บริเวณดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แหล่งกำเนิดของคนไท แต่หลักฐานจากตำนานสร้างโลกบอกเราว่าเป็นชุมทางวัฒนธรรมแหล่งสำคัญของชนชาติไทที่สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ ร่องรอยของวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนพัฒนาการทางวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อของคนไท งานวิจัยเรื่องนี้พยายามจะชี้ให้เห็นความสำคัญของตำนานในฐานะที่เป็นข้อมูลที่จะใช้ศึกษาเรื่องชนชาติไท ทั้งในเรื่องความคิด ความเชื่อ การกระจายของคนไท และความสัมพันธ์ของคนไทกลุ่มต่างๆ ในทำนองเดียวกันกับที่นักวิชาการในสาขาอื่นๆ พยายามใช้หลักฐานทางด้านภาษา ความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณี ลายผ้าสิ่งทอ ฯลฯ ในการศึกษาความสัมพันธ์ของชนชาติไท
Description:
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนไทแต่ละกลุ่ม : ไทใหญ่-ไทอาหม ; ไทลื้อ ; ไทเขิน ; ไทยวน-ล้านนา ; ลาว-ล้านช้าง ; อีสาน ; ไทดำ-ไทขาว ; จ้วง -- แหล่งที่มาของตำนานการสร้างโลกของคนไทสำนวนต่างๆ -- ตำนานสร้างโลกในฐานะเป็นเครื่องบอกความสัมพันธ์ ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไท -- ความคิดเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติกับจริยธรรมในทัศนะของคนไท -- การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมของคนไทกับพุทธศาสนา -- วัฒนธรรมข้าวในฐานะที่เป็นส่วนร่วมของชนชาติไท -- ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทกับคนชาติพันธุ์อื่นๆ -- ตำนานสร้างโลกของคนไทเปรียบเทียบกับ ตำนานสร้างโลกในวัฒนธรรมอื่น