Abstract:
ชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของประเทศไทยหรือที่เรียกว่า "ชาวเขา" มักถูกเสนอภาพอย่างมีอคติในสื่อมวลชนและปริจเฉทสาธารณะอื่นๆ ว่าเป็นผู้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อประเทศ ความคิดที่ฝังแน่นและเป็นไปในทางลบเช่นนี้ถูกถ่ายทอดผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและหนังสือเรียนซึ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิดเรื่อง "ตัวตน" และ "ผู้อื่น" ในสังคมไทย งานวิจัยนี้มุ่งวิเคราะห์อุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ในปริจเฉทสื่อมวลชนภาษาไทย ประเด็นหลักของงานคือ มีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในการเสนอภาพของพวกเขาผ่านบทความประเภทข่าวในหนังสือพิมพ์ และรายการโทรทัศน์ งานวิจัยนี้ต้องการตอบคำถามต่อไปนี้ (1) เราจะสรุปวิธีการที่ผู้สื่อข่าวเขียน พูด และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวเขาได้อย่างไรบ้าง (2) มีลักษณะทางความหมายและทางปริจเฉทอะไรบ้างที่มีการนำมาใช้ และ (3) มีอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันอะไรบ้างที่สามารถสรุปได้จากแหล่ง "พูดคุย" ต่างๆ ที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย แหล่งข้อมูลสำคัญของการศึกษานี้คือข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยและรายการโทรทัศน์ทุ่งแสงตะวัน นอกจากนี้ ข้อมูลยังมาจากการสัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์และผู้จัดรายการโทรทัศน์อย่างไม่เป็นทางการ ผลการวิจัยได้แก่ (1) นักหนังสือพิมพ์ไทยมีวิธีการเสนอข่าวเกี่ยวกับชาวเขาในทำนองลบ ในขณะที่รายการโทรทัศน์มีปริจเฉทที่ต่างออกไป (2) ลักษณะทางความหมายและทางปริจเฉทที่นำมาใช้มีเช่น คำศัพท์ อุปลักษณ์ และการเลือกเน้นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ (3) หนังสือพิมพ์มองชนกลุ่มน้อยในภาพลบเป็นส่วนใหญ่ซึ่งต่างจากโทรทัศน์ งานวิจัยนี้เป็นการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับวิธีที่เราพูดคุยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมอื่นและวิธีการที่เรารักษาความเป็นตัวตนของเราโดยแบ่งแยกตัวเราจากผู้อื่น