Abstract:
งานวิจัยเรื่อง "บทแนะนำหนังสือในวารสารไทย (พ.ศ. 2521-พ.ศ 2523) ผู้วิจัยได้ศึกษา ลักษณะของการแนะนำหนังสือในวารสารไทยระหว่าง พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2523 โดยวิเคราะห์บทแนะนำหนังสือจากวารสารที่คัดเลือกเป็นประชากร 26 ชื่อ มีจำนวนบทแนะนำหนังสือ 4138 บท และศึกษาทัศนคติของผู้อ่านบทแนะนำหนังสือ ซึ่งประกอบด้วยผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับหนังสือและบทแนะนำหนังสือ 4 กลุ่ม ได้แก่ นิสิตนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย อาจารย์ผู้สอนวิชาภาษาไทย นักประพันธ์ และบรรณารักษ์เป็นประชากรทั้งสิ้น 225 คน การวิจัยสรุปผลได้ว่าการแนะนำหนังสือในวารสารไทยระหว่าง พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2523 ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนหนังสือที่พิมพ์ในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ หนังสือที่ได้รับการแนะนำมีทุกประเภท ทุกหมวดวิชา ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่แต่งเป็นภาษาไทย และมีสารคดีและวิชาการมากกว่าบันเทิงคดี แม้ว่าหนังสือที่ได้รับการแนะนำจะมีสัดส่วนแตกต่างกันมากแต่ก็อยู่ในลักษณะที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้อ่าน คอลัมน์แนะนำหนังสือในวารสารไทยส่วนใหญ่ไม่มีแบบแผนการแนะนำที่แน่นนอนแต่มักแนะนำแบบกึ่งวิชาการด้วยสำนวนภาษาเขียนหรือแบบการสนทนา นอกจากนี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบแจ้งข่าวหนังสือ การให้ข้อมูลในบทแนะนำหนังสือมีความแตกต่างกัน ระหว่างวารสารทั่วไปและวารสารวิชาการ และระหว่างการแนะนำหนังสือสารคดีและวิชาการกับบันเทิงคดี บทแนะนำหนังสือส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่เป็นการแนะนำหรือใช้ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือแต่ขาดข้อมูลเชิงประเมินค่าหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้อ่านให้ความสำคัญมาก ผูอ่านส่วนใหญ่จึงได้รับประโยชน์จากการอ่านบทแนะนำหนังสือในระดับปานกลาง และเห็นว่าควรมีการปรับปรุงการแนะนำหนังสือในด้านปริมาณ ความสมดุลย์ และความทันสมัยของสิ่งพิมพ์ที่แนะนำ และสาระในบทแนะนำ วารสารที่ผู้อ่านชอบอ่านบทแนะนำ 3 ชื่อแรกคือ โลกหนังสือ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และฟ้าเมืองไทย ตามลำดับ ผลการวิจัยได้เสนอเป็น 5 บท บทที่ 1 เป็นบทนำกล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ ขอบเขต และข้อจำกัดของการวิจัย ประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และนิยามศัพท์ที่ใช้ บทที่ 2 เป็นข้อมูลด้านลักษณะทั่วไปของบทแนะนำหนังสือ ซึ่งกล่าวถึงความหมาย ประวัติพัฒนาการ เนื้อหา ประเภท ลักษณะที่ดีของบทแนะนำหนังสือ และแนวในการประเมินค่าบทแนะนำหนังสือ บทที่ 3 และบทที่ 4 เป็นการวิเคราะห์ลักษณะบทแนะนำหนังสือในวารสารไทย และความเห็นของผู้อ่านที่มีต่อบทแนะนำหนังสือในลักษณะของการเปรียบเทียบ และบทที่ 5 เป็นสรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ ซึ่งผู้วิจัยได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงการแนะนำหนังสือในวารสารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มข้อมูลเชิงประเมินค่าหนังสือ ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนับตั้งแต่ผู้จัดพิมพ์วารสาร ผู้แนะนำหนังสือ ผู้อ่าน บรรณารักษ์ นักประพันธ์ และนักวิชาการ ให้ความสำคัญแก่บทแนะนำหนังสือมากขึ้น และดำเนินการต่างๆ เพื่อให้มีการแนะนำหนังสือที่ดีมีคุณค่ายิ่งขึ้น และควรมีการวิจัยลักษณะของการแนะนำหนังสือในช่วงเวลาต่อไปเพื่อทราบแนวโน้มของการแนะนำหนังสือในประเทศไทย และควรศึกษาเรื่องการแนะนำและวิจารณ์หนังสือในรูปแบบอื่นๆ ด้วย