Abstract:
วัตถุประสงค์ในการวิจัยเรื่องนี้คือ เพื่อศึกษาให้ทราบว่างานด้านการคมนาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นรากฐานของการคมนาคมในปัจจุบันนี้ ได้เริ่มต้นและมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ลงทุนเพื่อการคมนาคมอันเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญยิ่งประเภทหนึ่งของประเทศมากน้อยเพียงใด และการจัดการดังกล่าวได้บรรลุผลสำเร็จเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณชนคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ ในการศึกษาเรื่องการวางรากฐานการคมนาคมนั้น ผู้วิจัยจะได้ศึกษาในด้านต่างๆ คือ การคมนาคมทางน้ำ ทางบก รวมถึงกิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ ซึ่งถือว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการคมนาคมด้วย ผู้วิจัยศึกษาโดยพิจารณาตามประเด็นต่อไปนี้ คือ ประการแรก สาเหตุและวัตถุประสงค์ที่ทำให้มีการเริ่มต้น และมีการดำเนินการคมนาคมแต่ละด้าน ประการที่สอง ขั้นตอนของการดำเนินงานและผู้ดำเนินงาน ประการที่สาม ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า และประการที่ 4 ประเมินผลจากเอกสารเท่าที่ค้นคว้าได้ งานวิจัยแบ่งออกเป็น 8 บท คือ บทนำ กล่าวถึงความมุ่งหมายของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย วิธีการดำเนินการค้นคว้าและวิจัย ที่มาของเอกสารและข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย ประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย และคำชี้แจงในการทำวิจัย บทที่ 1 กล่าวถึงการคมนาคมในสมัยโบราณ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทที่ 2 กล่าวถึงการจัดการคมนาคมทางน้ำและทางบกในมณฑลกรุงเทพฯ บทที่ 3 กล่าวถึงการจัดการคมนาคมทางน้ำและทางบกในมณฑลต่างจังหวัด บทที่ 4 กล่าวถึงพาหนะประเภทต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งที่มีอยู่แต่เดิม เช่น เรือ รถม้า และที่สั่งเข้ามาในประเทศไทยใหม่ เช่น รถยนต์ รถจักรยาน รถลาก รถราง บทที่ 5 กล่าวถึงการดำเนินงานสร้างทางรถไฟและความเจริญของงานด้านนี้ บทที่ 6 กล่าวถึงกิจการด้านการไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุโทรเลข และบทที่ 7 เป็นบทสรุปสาเหตุและวัตถุประสงค์ของการจัดการคมนาคมด้านต่างๆ ซึ่งกลายเป็นรากฐานของการคมนาคมในปัจจุบัน ขั้นตอนของการดำเนินงานและประเมินผลการใช้การคมนาคมว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ พร้อมทั้งวิจารณ์เชิงเปรียบเทียบการจัดการคมนาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมัยปัจจุบัน