Abstract:
การศึกษาระดับอุดมศึกษามีบทบาทต่อการพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กล่าวคือ ผลของการปฏิรูปการศึกษาระดับสูงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 7 ทำให้นักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับการศึกษาระดับสูงจากต่างประเทศได้กลับมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นต่อมาส่วนใหญ่ก็ได้กลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองของไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้นำทางการเมืองของไทยมักตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่เป็นไปในลักษณะที่จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของตน แต่กลับเป็นกำลังสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองของตน ด้วยสาเหตุนี้ประกอบกับสาเหตุอื่นๆ เช่น สภาพทางการเมือง การปกครอง สังคม ตลอดจนค่านิยมของสังคมไทย ทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาไม่ค่อยมีบทบาทในการพัฒนาทางการเมืองในความหมายที่แท้จริงนัก ถ้าจะมีอยู่บ้างก็เป็นไปในรูปแบบแต่ทางทฤษฎีมากกว่า นิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความสนใจและกระตือรือล้นในทางการเมืองนัก แม้กระนั้นก็ตามภายหลัง พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา นิสิตนักศึกษาบางกลุ่มที่มีความสนใจในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองได้แสดงปฏิกิริยาของการที่จะเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ประกอบกับความกดดันจากเหตุการณ์ภายในและภายนอกทำให้นิสิตนักศึกษาซึ่งมีความสนใจทางการเมืองอยู่บ้าง ได้กลายเป็นจักรกลสำคัญในการเรียกร้องการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองประเทศ โดยทำการต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการในขณะนั้น และได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากนิสิตนักศึกษาเองตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อย่างไรก็ดี ความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษายังอยู่ในวงจำกัด และเป็นการตื่นตัวในลักษณะเป็นปฏิกิริยาต่อพลังเผด็จการที่กดดันเขาอยู่เป็นเวลานานมากกว่าความตื่นตัวที่เป็นไปตามกระบวนการฝึกฝนทางการเมืองที่มีระเบียบแบบแผน เพราะการรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษาก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 ยังจำลองแบบการรวมอำนาจไว้กับกลุ่มบุคคลมากกว่าการคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย ผู้นำนักศึกษาเองหลังจากการเผยแพร่ประชาธิปไตย ก็มีแนวโน้มที่จะละทิ้งกระบวนการประชาธิปไตยและหันไปใช้ "พลังมวลชน" เป็นเครื่องตัดสินปัญหา โดยนัยนี้อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2516 จึงไม่มีบทบาทในการพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทยในความหมายที่แท้จริงเท่าใดนัก