Abstract:
โครงการไวยากรณ์ภาษาทิเบตถิ่นคามใต้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์ลักษณะสำคัญทางไวยากรณ์ของภาษาทิเบตถิ่นคามใต้ 2 ภาษาคือภาษาเกียลทังซึ่งพูดในเขตปกครองตนเองเตเชนของคนทิเบต มณฑลยูนานและภาษาบาทังซึ่งพูดในเขตปกครองตนเองกานเซของคนทิเบตมณฑลเสฉวน ประเด็นที่ศึกษาได้แก่ประเภททางไวยากรณ์ของคำกริยาและความสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ของคำนามโดยเฉพาะรูปแบบการลงการก ในส่วนของภาษาเกียลทังซึ่งผู้วิจัยได้ทำวิจัยต่อจากโครงการไวยากรณ์ภาษาเกียลทัง ภาษาทิเบตในยูนนาน ผู้วิจัยยังได้ใช้ข้อมูลในระดับปริจเฉท เพื่อวิเคราะห์ลักษระไวยากรณ์บางลักษณะให้ชัดเจนขึ้น คำถามที่ผู้วิจัยถามคือไวยากรณ์ภาษาเกียลทังและภาษาบาทังเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ความเหมือนและความต่างนี้นำไปสู่การตั้งข้อสรุปเกี่ยวกับไวยากรณ์ของภาษาทิเบตถิ่นคามใต้อย่างไรได้บ้าง วิธีการวิจัยประกอบด้วย (1) การวิจัยเอกสารเพื่อทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์ทางภาษาในทิเบตตะวันออก ไวยากรณ์ภาษาทิเบต ความรู้เกี่ยวกับภาษาทิเบตถิ่นต่างๆ ตลอดจนรูปแบบไวยากรณ์ที่คล้ายคลึงกันในภาษาอื่น และ (2) การทำวิจัยภาคสนามโดยทำที่เมืองเกียลทัง (จงเตี้ยน) เมืองบาทังและเมืองอื่นๆ ที่มีชาวทิเบตถิ่นคามอาศัยอยู่ วิธีการทำวิจัยภาคสนามได้แก่การซักถามข้อมูลภาษาจากผู้บอกภาษาและผู้เชี่ยวชาญทางภาษา การอัดเสียงนิทานและเรื่องเล่า การถ่ายสียงตัวบทเหล่านี้เป็นตัวอักษร การวิเคราะห์รูปแบบทางไวยากรณ์จากตัวบทดังกล่าว การสัมภาษณ์ข้อมูลทางวัฒนธรรมจากชาวบ้าน การสังเกตและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน และการสำรวจภาษาทิเบตถิ่มคามอื่นๆ เพื่อทำให้เข้าใจสภาพทางภาษา สังคมและวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้รวมทั้งลักษณะทางไวยากรณ์ของภาษาทิเบตถิ่มคามใต้ให้ชัดเจนขึ้น ผลการวิจัยพบว่าไวยากรณ์ภาษาเกียลทังมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกับและส่วนที่แตกต่างจากไวยากรณ์ภาษาบาทัง การลงสาธกการกในภาษาเกียลทังมีความแตกต่างจากการลงสาธกการกในภาษาบาทังและภาษาคามถิ่นอื่นเช่น เดเก (ภาษาคามถิ่มเหนือ) การแสดงแก่นความในภาษาเกียลทังและภาษาบาทังมีรูปแบบคล้ายคลึงกันและมีปฏิสัมพันธ์กับการลงสาธกการก เช่นเดียวกับภาษาทิเบตถิ่นกลาง กริยาช่วยในภาษาเกียลทังและในภาษาบาทังพัฒนามาจากกริยา 'เป็น' และกริยาเคลื่อนไหวที่ผ่านการกลายมาเป็นคำไวยากรณ์ กริยาเหล่านี้แสดงประเภททางไวยากรณ์ของภาษาทิเบตสมัยใหม่ กล่าวคือมีการแสดงการณ์ลักษณะ มุมมองของผู้ร่วมสนทนา สถานภาพของความรู้ และแหล่งที่มาของความรู้ ลักษณะอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาทิเบตถิ่นคามใต้ ซึ่งแตกต่างจากไวยากรณ์ภาษาทิเบตถิ่นกลางอย่างชัดเจน เช่น มีการใช้กริยารองเพื่อแสดงอรรถานุเคราะห์และการณ์ลักษณะ มีการใช้รูปแสดงความเป็นเจ้าของซ้อนกัน มีระบบสรรพนามที่ซับซ้อนกริยาหลักในประโยคไม่แปรไปตามกาลและมาลา ลักษณะเหล่านี้ยังพบในภาษาทิเบตถิ่นคามอื่นๆ แม้ว่าจะมีความแตกต่างในรายละเอียด งานวิจัยนี้ให้ข้อคิดสำคัญเกี่ยวกับการวิจัยภาษาในทิเบตตะวันออกและนำไปสู่การวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาของชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นที่พูดในบริเวณนี้ การสัมผัสกันของภาษาเหล่านี้ กำเนิดและพัฒนาการของภาษากลางตลอดจนประเด็นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ผลกระทบของโลกาภิวัฒน์และพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนต่อรูปแบบการดำรงชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในบริเวณนี้ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวทิเบตและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในทิเบตตะวันออก