Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 3 ประการ คือ (1) ศึกษาและวิเคราะห์ถึงการเมืองในกระบวนการนโยบายสื่อสาธารณะและการจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (2) ศึกษาและวิเคราะห์ถึงรูปแบบ การดำเนินงาน เนื้อหาและเป้าหมายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยกับบทบาทการเป็นสื่อสาธารณะในสังคมไทย (3) ศึกษาถึงความเชื่อมโยงของกรณีศึกษารายการที่นี่ทีวีไทยและรายการนักข่าวพลเมืองกับแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะ โดยอาศัยข้อมูลในเชิงคุณภาพซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารชั้นต้น เทปบันทึกรายการและผังรายการโทรทัศน์ช่วงปีพ.ศ. 2551 – 2552 ตลอดจนการสัมภาษณ์เจาะลึกจากกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนโยบายสื่อสาธารณะ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในสื่อสาธารณะ กลุ่มตัวแทนสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการกลุ่มสื่อมวลชนและนักวิชาการ ผลการวิจัยพบว่า (1) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เกิดขึ้นจากการผลักดันของกลุ่มนักวิชาการที่เป็นตัวแทนความคิดและอุดมการณ์ของกลุ่มประชาสังคมระดับชนชั้นนำจากแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่เสนอโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี โดยอาศัยความรู้จากฐานงานวิจัยมาใช้ในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองในช่วงที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาจากการแต่งตั้งภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 (2) แม้ว่า ส.ส.ท. จะมีความพยายามเป็นสื่อที่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจรัฐหรือกลุ่มทุน แต่ความพยายามของ ส.ส.ท. ที่จะเป็นอิสระจากกลุ่มทุนทำให้มีความจำเป็นต้องพึ่งพารายได้สาธารณะเป็นหลักซึ่งพบว่างบประมาณเกือบทั้งหมดมาจากภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 1.5 โดยกำหนดให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามพบว่าโครงสร้างและการดำเนินงานของ ส.ส.ท. ได้พยายามเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่หลากหลายในมิติต่างๆ ซึ่งพบคุณค่าอันเป็นลักษณะร่วมของทุกกลุ่มรายการที่สะท้อนถึงแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน และ (3) ส.ส.ท. สนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและความต้องการของตนโดยเฉพาะพื้นที่ในรายการที่นี่ทีวีไทยและรายการนักข่าวพลเมือง แต่ยังพบว่าขาดองค์ประกอบที่สำคัญของพื้นที่สาธารณะ คือ การหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และการเคลื่อนไหวเพื่อขยายผลต่อจากประเด็นที่แลกเปลี่ยนในระดับนโยบาย