Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของทิศทางการฉายแสงที่มีต่อความแข็งแรงการยึดติดทนแรงเฉือนและระดับการบ่มของวัสดุยึดติดที่บ่มตัวด้วยแสง วัสดุและวิธีการ: ใช้ฟันกรามน้อยมนุษย์ที่ถอนแล้ว 72 ซี่ กลุ่มละ 12 ซี่ ยึดแบร็กเกตโลหะด้วยวัสดุยึดติดเรซินที่บ่มตัวด้วยแสง ฉายแสงใน 3 ลักษณะคือ 1) ฉายจากด้านใกล้กลางและไกลกลาง 2) ด้านแก้ม และ 3) ด้านบดเคี้ยวของผิวฟัน ทดสอบความแข็งแรงการยึดติดทนแรงเฉือนด้วยเครื่องยูนิเวอร์แซลเทสติงแมชชีน ภายหลังการฉายแสง 5 นาทีและ 24 ชั่วโมง และในการศึกษาระดับการบ่มของวัสดุยึดติด ใช้ฟันกรามน้อย 1 ซี่ ยึดแบร็กเกตโลหะด้วยวัสดุยึดติดเรซินที่บ่มตัวด้วยแสง ฉายแสงในลักษณะเช่นเดียวกับการศึกษาความแข็งแรงการยึดติดทนแรงเฉือน ทำการวิเคราะห์ระดับการบ่มด้วยเครื่องโฟวเรียร์ทรานสฟอร์มอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี ทำการทดสอบกลุ่มละ 5 ตัวอย่าง หลังการฉายแสง 5 นาทีและ 24 ชั่วโมง ผลการศึกษา: พบความแข็งแรงการยึดติดทนแรงเฉือนมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละทิศทางการฉายแสง ทั้งในกลุ่มทดสอบ 5 นาทีและ 24 ชั่วโมงหลังการฉายแสง แต่พบระดับการบ่มของวัสดุยึดติดมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยระดับการบ่มของวัสดุยึดติดในกลุ่มที่ฉายแสงจากด้านใกล้กลางและไกลกลางมีค่ามากกว่ากลุ่มที่ฉายแสงจากด้านแก้มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งกลุ่มทดสอบ 5 นาทีและ 24 ชั่วโมงหลังการฉายแสง ในขณะที่กลุ่มที่ฉายแสงจากด้านบดเคี้ยวมีค่าระดับการบ่มตัวของวัสดุยึดติดไม่แตกต่างจากทั้ง 2 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป: ทิศทางการฉายแสงมีผลต่อระดับการบ่มของวัสดุยึดติดที่บ่มตัวด้วยแสงแต่ไม่มีผลต่อความแข็งแรงการยึดติดทนแรงเฉือน