Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของไดแคลต่อค่ากำลังแรงยึดเฉือนและการรั่วซึมของเนื้อฟันกับเรซินซีเมนต์ 3 ชนิด วิธีทดสอบค่ากำลังแรงยึดเฉือน ตัดด้านบดเคี้ยวฟันกรามแท้ของมนุษย์ซี่ที่สาม จำนวน 90 ซี่ เพื่อให้ชั้นเนื้อฟันเผยผึ่ง จากนั้นสุ่มแบ่งฟันออกเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 30 ซี่ กลุ่มแรกไม่ได้สัมผัสไดแคล นำไดแคลทาบนเนื้อฟันของกลุ่มที่สอง และกลุ่มที่สาม เป็นระยะเวลา 7 วัน และ 28 วันตามลำดับ แบ่งแต่ละกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ตามเรซินซีเมนต์ 3 ชนิด (self-adhsive;RelyX U100, self-etch;PanaviaF2.0, total etch;Superbond C&B) หลังจากครบเวลาที่กำหนดไว้ กำจัดไดแคลออก จากนั้นยึดชิ้นงานเรซินคอมโพสิตบนผิวเนื้อฟันด้วยเรซินซีเมนต์ นำชิ้นงานเก็บในน้ำกลั่นที่ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำมาทดสอบหาค่ากำลังแรงยึดเฉือนโดยเครื่องทดสอบสากลระบบไฮดรอริก นำชิ้นงานที่แตกหักแล้วไปส่องกล้องจุลทรรศน์สเตอริโอไมโครสโคป ที่กำลังขยาย 50 เท่า วิธีทดสอบการรั่วซึม เตรียมโพรงฟัน 90 โพรงฟันรูปบล็อคด้านใกล้ลิ้นและใกล้แก้มให้มีความผายสู่ด้านบดเคี้ยว โดยขอบด้านใกล้เหงือกกำหนดให้อยู่ใต้รอยต่อเคลือบฟันและเคลือบรากฟัน 1 มิลลิเมตร สุ่มแบ่งเป็น 3 กลุ่ม (n=30) เตรียมชิ้นงานคอมโพสิตอินเลย์บนชิ้นงานปูนหล่อ 2 ชิ้นงานต่อ 1 โพรงฟัน ยกเว้นในกลุ่มที่ไม่ได้ยึดชั่วคราวด้วยไดแคล นำชิ้นงานคอมโพสิตยึดด้วยไดแคลในโพรงฟัน เก็บไว้ในน้ำกลั่นที่ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน และ 28 วัน อีกกลุ่มไม่ยึดชั่วคราวด้วยไดแคล เมื่อครบกำหนดนำชิ้นงานคอมโพสิตออกจากโพรงฟันและกำจัดไดแคลออก นำคอมโพสิตอีกชิ้นยึดด้วยเรซินซีเมนต์ในโพรงฟัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย (n=10) เพื่อยึดเรซินซีเมนต์ 3 ชนิด แช่ชิ้นงานในน้ำกลั่น 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นทาวานิชเคลือบผิวฟันทั้งหมด ยกเว้นขอบด้านเหงือก ห่างจากขอบวัสดุ 1 มิลลิเมตรโดยรอบ นำชิ้นงานแช่ในสารละลายเบสิกฟุชชินเข้มข้นร้อยละ 0.5 เป็นเวลา 24 ชั่วโมง นำชิ้นงานมาตัดในแนวตั้งให้ผ่านกึ่งกลางของชิ้นงานคอมโพสิต ซึ่งใน 1 ซี่จะมี 2 ชิ้น ส่องกล้องจุลทรรศน์สเตอริโอไมโครสโคป ที่กำลังขยาย 50 เท่า และให้คะแนนการรั่วซึม ผลการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลค่ากำลังแรงยึดเฉือนโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง ในกลุ่มรีไลเอ็กซ์ พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างควบคุมและกลุ่มที่สัมผัสไดแคล โดยค่าเฉลี่ยค่ากำลังแรงยึดเฉือนของกลุ่มที่สัมผัสไดแคลเป็นเวลา 28 วัน และ 7 วัน มีค่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ระหว่าง 28 วันและ 7 วัน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่ม พานาเวียเอฟทูและกลุ่มซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีในทุก ๆ เวลาที่สัมผัสไดแคล การศึกษาบริเวณที่เกิดการแตกหักของชิ้นตัวอย่างพบการแตกหักส่วนใหญ่เป็นการแตกหักบริเวณรอยต่อระหว่างเนื้อฟันกับเรซินซีเมนต์ พบว่าการรั่วซึมในแต่ละชนิดของเรซินซีเมนต์ไม่มีความแตกต่างกันในทุกช่วงเวลาที่สัมผัสไดแคล พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของรีไลเอ็กซ์และซูเปอร์บอนด์ในทุกช่วงเวลา มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างรีไลเอ็กซ์กับพานาเวียเอฟทูในกลุ่ม 28 วัน สรุปผลการทดลอง ไดแคลมีผลในการลดค่ากำลังแรงเฉือนต่อเนื้อฟันในรีไลเอ็กซ์ยูร้อย แต่ไม่ได้มีผลต่อค่ากำลังแรงยึดเฉือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในพานาเวียเอฟทู และซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี ไดแคลไม่มีผลต่อการรั่วซึมของเรซินซีเมนต์ทั้งสามชนิดนี้