Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบบทบาทการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชุมชนท้องถิ่นบนฐานคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม งานวิจัยเลือกกรณีศึกษาแบบเจาะจงโดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลจากการศึกษาเอกสารและการวิจัยภาคสนามโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและแบบไม่มีส่วนร่วม ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนบ้านนาอิน เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการมีส่วนร่วมเชิงสถาบัน โดยการสร้างแนวร่วมกับตัวแทนทางการเมือง การมีส่วนร่วมในกลไกราชการ การร้องเรียนต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เป็นตัวอย่างรูปธรรมของชุมชนที่อาศัยการมีส่วนร่วมทางตรงโดยการกำหนดตัวตนผ่านการนิยามความหมายสิทธิชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนด้วยภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเอง การสร้างองค์กรชุมชนและชุมชนเครือข่ายความร่วมมือ โดยมุ่งรักษาความเป็นชุมชนที่สามารถดูแลจัดการป่าได้อย่างยั่งยืน ทั้งสองกรณีเป็นการใช้กลไกประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรแสดงถึงสิทธิในการปรับเปลี่ยนทิศทางหรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเอง โดยการแสวงหากลไกคู่ตรงข้ามมาปรับใช้เพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายตามพลวัตทางสังคม สะท้อนภาพความพยายามของชุมชนที่ต้องอาศัยทั้งกลไกการมีส่วนร่วมเชิงสถาบันและการมีส่วนร่วมทางตรงในการตอบสนองเป้าหมายการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน มีความสำคัญในแง่การเชื่อมโยงแนวคิดประชาธิปไตยกระแสหลักแบบตัวแทนเข้ากับประชาธิปไตยทางเลือกที่ มีการเปิดโอกาสและพื้นที่ทางการเมืองให้ชุมชนปกครองตนเองบนฐานคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม บทบาทของชุมชนท้องถิ่นที่มากขึ้นมีผลทำให้รัฐมีบทบาทการจัดการท้องถิ่นน้อยลง แสดงถึงการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับชุมชนให้เสมอภาคกันซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในสังคมไทย