Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความต้านทานการแตกของฟันรักษาคลองรากเมื่อบูรณะด้วยเดือยฟันเส้นใยควอตซ์ที่ผ่านการปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเคมีที่แตกต่างกัน ใช้ฟันกรามน้อยล่างซี่ที่สองจำนวน 60 ซี่ ตัดส่วนตัวฟันที่ตำแหน่งเหนือรอยต่อเคลือบฟันและเคลือบรากฟัน 2 มิลลิเมตร นำฟันมารักษาคลองรากฟัน และเตรียมช่องว่างสำหรับใส่เดือยฟัน แบ่งฟันออกเป็น 6 กลุ่ม (กลุ่มละ 10 ซี่) โดยการสุ่ม กลุ่มที่ 1 บูรณะด้วยเดือยฟันที่ไม่ปรับสภาพพื้นผิว กลุ่มที่ 2 ปรับสภาพพื้นผิวเดือยฟันด้วย 24% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นาน 10 นาที กลุ่มที่ 3 ปรับสภาพพื้นผิวเดือยฟันด้วย 30% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นาน 5 นาที กลุ่มที่ 4 ปรับสภาพพื้นผิวเดือยฟันด้วย 35% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นาน 5 นาที กลุ่มที่ 5 ปรับสภาพพื้นผิวเดือยฟันด้วย 5% ไฮโดรฟลูออริกนาน 5 วินาทีและกลุ่มที่ 6 ปรับสภาพพื้นผิวเดือยฟันด้วย 10% โซเดียมไฮโปคลอไรต์นาน 10 นาที ยึดเดือยฟันและสร้างแกนฟันด้วย มัลติคอร์โฟลว์ ทำครอบฟันโลหะบนฟันทุกซี่ นำชิ้นตัวอย่างทดสอบแรงกดด้วยเครื่องทดสอบสากลชนิดอินสตรอน วิเคราะห์ค่าแรงเฉลี่ยที่ทำให้เกิดการแตกของชิ้นงานด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและการวิเคราะห์แบบบอนเฟอร์โรนี พบว่ากลุ่มที่ 2, 3 และ 5 มีความต้านทานการแตกของฟันรักษาคลองรากสูงกว่ากลุ่มที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การปรับสภาพพื้นผิวเดือยฟันด้วยสารเคมีที่แตกต่างกันไม่มีผลต่อความต้านทานการแตกของฟันรักษาคลองราก