Abstract:
เทคโนโลยีสะอาดเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงทศวรรษหลังมานี้ อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ภาระสิ่งแวดล้อมทั้งก่อนและภายหลังหากประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดตามแบบอย่างประเทศต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเดนมาร์ก หรือประเทศเยอรมันก็ตาม ในปี พ.ศ.2548 โดยใช้เครื่องมือตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ขนาด 37 x 37 สาขาการผลิต และข้อมูลการใช้พลังงานรายอุตสาหกรรมจากพลังงาน 29 ชนิดและได้ให้ประเทศบราซิลเป็นประเทศเทียบเคียงอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศไทยซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผลการศึกษามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในการศึกษาภาระสิ่งแวดล้อมจะทำการวิเคราะห์จากการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามภาระรับผิดชอบตามการปลดปล่อยที่จุดผลิตพร้อมทั้งเปรียบเทียบมูลค่าผลตอบแทนจากการขายคาร์บอนเครดิตต่อมูลค่าการลงทุนเทคโนโลยี ผลจากการศึกษาพบว่า ภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด และมีภาระสิ่งแวดล้อมมากที่สุดทั้งในประเทศไทย คือ ภาคการขนส่งและการจัดเก็บสินค้า รองลงมาเป็นสาขาการผลิตที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ เช่น ภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ สิ่งทอและผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และเป็นสาขาที่ประเทศไทยต้องแบกรับภาระทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ภายหลังที่ประเทศไทยและประเทศบราซิลได้มีการลงทุนในเทคโนโลยีตามแบบประเทศต้นแบบพบว่า ภาระสิ่งแวดล้อมโดยรวมและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมลดลง โดยมีภาคการขนส่งและการจัดเก็บสินค้าเป็นสาขาที่ภาระสิ่งแวดล้อมลดลงมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการขายคาร์บอนเครดิตจากปริมาณการปล่อยก๊าซที่ลดลงภายหลังจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่อมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยีพบว่า ในประเทศไทยภาคขนส่งและการจัดเก็บสินค้า โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ อุปกรณ์วิทยุและการสื่อสาร และภาคการไฟฟ้า ก๊าซและการประปา เป็นภาคที่มีสัดส่วนของผลตอบแทนมากกว่ามูลค่าการลงทุน ส่วนประเทศบราซิลมีเพียงภาคขนส่งและการจัดเก็บสินค้าเท่านั้น ที่มีสัดส่วนของมูลค่าผลตอบแทนมากกว่าการลงทุน ดังนั้นประเทศไทยและประเทศบราซิลควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีตามประเทศต้นแบบในสาขาดังกล่าว เพราะนอกจากจะได้ผลตอบแทนจากการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ยังสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย