Abstract:
เมื่อทดสอบความสามารถในการทนแล้งของข้าวพันธุ์เหลืองประทิวสายพันธุ์ทนเค็ม (LPT123-TC171) ที่เกิดจาก somaclonal variation ในหลอดทดลองและผ่านการคัดเลือกภายใต้ภาวะเค็ม 10 ชั่วรุ่น พบว่า LPT123-TC171 มีความสูง น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของต้นและรากสูงกว่าข้าวสายพันธุ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อปลูกในสารละลายธาตุอาหารที่มี PEG 6000 ความเข้มข้น 200 g/l เป็นเวลา 6 สัปดาห์ จากความสามารถในการทนแล้งของข้าวสายพันธุ์ทนเค็มนี้ทำให้คาดว่ายีนบางยีนที่เกี่ยวกับความสามารถในการทนแล้งและทนเค็มน่าจะมีความเกี่ยวข้องกันหรืออาจจะเป็นยีนในกลุ่มเดียวกัน และเมื่อนำข้าว LPT123-TC171 มาคัดเลือกภายใต้ภาวะแล้งต่ออีกหนึ่งชั่วรุ่น พบว่าข้าว LPT123-TC171 รุ่นที่ 11 มีความทนทานต่อภาวะแล้งได้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวในรุ่นที่ 10 การใช้ RAPD ศึกษาการแปรทางพันธุกรรมของข้าว LPT123-TC171 เปรียบเทียบกับข้าวสายพันธุ์เดิม พบรูปแบบของแถบ DNA ที่แตกต่างกันในข้าวทั้งสองสายพันธุ์ ซึ่งแสดงว่าข้าวทั้งสองสายพันธุ์มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุล เมื่อทำการโคลนชิ้นส่วน DNA ที่แตกต่างกันระหว่างข้าวทั้งสองสายพันธุ์ คือ 171_A_13, 123_B_18 และ 123_UBC_80 เพื่อใช้เป็น probe ในการทำ Southern blot analysis ผลพบความแตกต่างกันของแบบแผนจีโนมระหว่างข้าวทั้งสองสายพันธุ์ ซึ่งแสดงว่ามีการแปรทางพันธุกรรมเกิดขึ้นในระดับ DNA ในข้าว LPT123-TC171 และเกิดขึ้นหลายตำแหน่ง การทำ hybridization ใน genomic DNA ของข้าวทั้งสองสายพันธุ์ โดยใช้ 171_A_13 และ 123_B_18 เป็น probe แสดงรูปแบบของ repeated sequence hybridization และเมื่อใช้ 123_UBC_80 เป็น probe พบว่า 123_UBC_80 อาจเป็นส่วนหนึ่งของ small gene family เมื่อศึกษาการแสดงออกของยีนโดยใช้เครื่องหมายทางพันธุกรรมที่โคลนได้เป็น probe ในการทำ Northern blot analysis ไม่พบสัญญาณ mRNA ในทุกการทดลอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแสดงออกของยีนมีระดับต่ำจนไม่สามารถตรวจสอบได้หรือเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่โคลนได้เป็นบริเวณที่ไม่ใช่ coding sequence ซึ่งควรทำการศึกษาความเกี่ยวข้องของเครื่องหมายทางพันธุกรรมกับความสามารถในการทนต่อภาวะเครียดต่อไป