Abstract:
เส้นใยเสริมแรงนำมาใช้ในทางทันตกรรมอย่างแพร่หลายเช่น ซ่อมฐานฟันปลอมที่แตกหัก ใช้เป็นแกนโครงสร้างภายในของสะพานฟันชั่วคราว การใช้สารเชื่อมยึดเพื่อเพิ่มการยึดติดระหว่างเส้นใยกับพอลิเมอร์เมทริกซ์มีผลทำให้เพิ่มคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุคอมโพสิตเสริมเส้นใย งานวิจัยนี้มุ่งเน้นเพื่อศึกษาผลของสารเชื่อมยึดและระยะเวลาการแช่น้ำต่อค่าความแข็งแรงดัดขวางของเรซินอะคริลิกเสริมเส้นใยแก้ว รวมทั้งเปรียบเทียบความแข็งแรงดัดขวางและมอดูลัสดัดขวางของการเสริมความแข็งแรงด้วยเส้นใยแก้วในเรซินอะคริลิกและเรซินคอมโพสิตที่เพิ่มการยึดติดด้วยสารเชื่อมยึด ชิ้นทดสอบขนาด 2x2x25 มิลลิเมตร สร้างขึ้นจากวัสดุเรซินอะคริลิกชนิดบ่มได้เองและเรซินคอมโพสิตเสริมเส้นใยแก้ว โดยปรับสภาพพื้นผิวเส้นใยด้วยสารเชื่อมยึดไซเลนหรือสารเชื่อมยึดไททาเนต กลุ่มทดสอบเรซินอะคริลิกประกอบด้วย (ก) กลุ่มที่ไม่ได้เสริมเส้นใย (ข) กลุ่มเสริมเส้นใยแก้ว (ค) กลุ่มเสริมเส้นใยแก้วที่ปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเชื่อมยึดไซเลน และ (ง) กลุ่มเสริมเส้นใยแก้วที่ปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเชื่อมยึดไททาเนต ในกลุ่มทดสอบเรซินคอมโพสิตเสริมเส้นใยถูกปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเชื่อมยึดไซเลน เส้นใยที่ใช้เสริมความแข็งแรงถูกจัดวางให้ขนานกับแนวตามยาวและอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของชิ้นทดสอบ กลุ่มทดลองทั้งหมดถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยกลุ่มละ 10 ชิ้นเพื่อแช่ในน้ำกลั่นเป็นเวลา 7 วัน และ 30 วันที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ก่อนนำมาทดสอบความแข็งแรงดัดขวางแบบ 3 จุด ความเร็วในการเคลื่อนหัวกด 1 มม.ต่อนาที นำกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดตรวจสอบพื้นผิวที่แตกของชิ้นทดสอบ จากการทดสอบค่าเฉลี่ยความแข็งแรงดัดขวางด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการเปรียบเทียบพหุคูณแบบเชฟเฟ พบว่ากลุ่มทดสอบเรซินอะคริลิกเสริมเส้นใยที่ปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเชื่อมยึดไซเลนให้ค่าความแข็งแรงดัดขวางสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) จากการทดสอบทีกรณีกลุ่มตัวอย่างเป็นอิสระจากกัน พบว่าเวลาในการแช่น้ำมีผลต่อความแข็งแรงดัดขวางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และพบว่าเรซิน คอมโพสิตเสริมเส้นใยแก้ว ให้ค่าความแข็งแรงดัดขวางและมอดูลัสดัดขวางไม่แตกต่างกับเรซินอะคริลิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ดังนั้นจากงานวิจัยนี้สามารถสรุปได้ว่า สารเชื่อมยึดไททาเนตสามารถเพิ่มค่าความแข็งแรงดัดขวางของ เรซินอะคริลิกเสริมเส้นใยแก้วได้ แต่มีค่าต่ำกว่าสารเชื่อมยึดไซเลน อย่างไรก็ตามการปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเชื่อมยึดไททาเนตเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผลในการเพิ่มการยึดติดระหว่างเส้นใยและเมทริกซ์ นำไปสู่การปรับปรุงคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุเสริมเส้นใย