Abstract:
งานวิจัยเรื่อง สถานภาพการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย นี้เป็นงานวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย เพื่อทราบสัดส่วนการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยตามแม่แบบงานประชาสัมพันธ์ 4 แบบ ของ Grunig คือ 1) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร (Press Agentry/Publicity) 2) ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (Public Information) 3) การสื่อสารสองทางแบบอสมมาตร (The Two-way Asymmetric Model) และ 4) การสื่อสารสองทางแบบสมมาตร (The Two-way Symmetric Model) โดยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างจากองค์กรเอกชน และหน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ รวม 24 ราย และการสำรวจด้วยแบบสอบถามจากองค์กรเอกชน หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รวม 182 ราย ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกและผลการสำรวจ พบว่า หน่วยงานประเภทต่าง ๆมีการใช้แม่แบบงานประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบแบบผสมผสาน โดยผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า องค์กรเอกชนใช้รูปแบบที่ 4 มากที่สุด รองลงมาคือ รูปแบบที่ 3 และ 2 หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใช้รูปแบบที่ 2 มากที่สุด รองลงมาคือ รูปแบบที่ 4 และ 3 ส่วนรูปแบบที่ 1 นั้นหน่วยงานประเภทต่าง ๆ มีการใช้น้อยที่สุด นอกจากนี้องค์กรเอกชนยังมีการใช้รูปแบบที่ 3 และ 4 มากกว่าหน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า องค์กรเอกชนจะคำนึงถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ โดยการทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ด้วยการแสวงหาข้อมูล และวิธีการที่จะสานสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ ทั้งจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และการทำวิจัย อีกทั้งยังมีการใช้การโน้มน้าวใจเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดทัศนคติที่ดีและปฏิบัติมากกว่าหน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในขณะที่หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นที่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการยอมรับและปฏิบัติตามมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และการโน้มน้าวใจ ทั้งนี้อาจสืบเนื่องจากองค์กรเอกชนต้องอยู่ในบริบทของการแข่งขัน และต้องคำนึงถึงการลงทุนและผลกำไรที่ต้องคุ้มค่า อีกทั้งการสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่ายย่อมนำมาซึ่งการยอมรับและสนับสนุนองค์กร/ตราสินค้า