Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ความสะเทือนใจของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียความสมบูรณ์ทางร่างกายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จำนวน 9 ราย (ชาย 6 ราย, หญิง 3 ราย) คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์รายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน ผลการศึกษาพบ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) แรงจูงใจในการเข้าร่วม การชุมนุม ได้แก่ ความต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการร่วมแสดงสิทธิ์ทางการเมืองเพื่อพลังมวลชน ต้องการช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนุม เป็นห่วงสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนผู้ใกล้ชิด (2) ความเจ็บปวดและบาดแผลทางกายจากประสบการณ์เฉียดตาย ได้แก่ การบาดเจ็บสูญเสียอวัยวะและความรู้สึกที่มีต่ออาการบาดเจ็บ (3) ความสะเทือนใจจากบาดแผลที่ยังไม่ลบเลือน ประกอบด้วย ความรู้สึกขณะที่เผชิญเหตุการณ์ บาดแผลทางใจภายหลังเหตุการณ์ (4) วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ได้แก่ การมีข้อจำกัดทางร่างกายส่งผลต่อการใช้ชีวิต ประจำวัน การประกอบอาชีพ การเรียน ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ด้านสังคมความสัมพันธ์กับผู้อื่น (5) การเติบโตภายหลังประสบเหตุ ได้แก่ มิตรภาพ ความอบอุ่น ความห่วงใยกำลังใจ การเห็นคุณค่าในการกระทำของตน ศาสนารักษาใจ การตระหนักในด้านดีของชีวิต ความเข้มแข็งด้วยใจตน ข้อค้นพบจากผลการวิจัยนี้ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประสบการณ์ ความสะเทือนใจของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นการเติบโตภายหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าว