Abstract:
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพันธกรณีตามข้อ 5(2) ของสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2509 ว่าประเทศไทยมีพันธกรณีตามที่สหรัฐฯกล่าวอ้างหรือไม่ ตลอดจนศึกษาผลดีผลเสียของการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เปรียบเทียบกับผลประโยชน์และผลกระทบของมาตรการตอบโต้ที่สหรัฐฯใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง และศึกษาว่าการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ควรมีเนื้อหาและขอบเขตการคุ้มครองเพียงใด จึงจะเหมาะสม เมื่อทำการวิจัยแล้วพบว่า 1) ประเทศไทยมีพันธกรณีตามสนธิสัญญาทางไมตรีแต่ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวแล้ว โดยผ่านมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 เพราะข้อ 5(2) มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อไม่เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนชาติและบริษัทของประเทศคู่ภาคีฝ่ายหนึ่ง เมื่ออยู่ในอาณาเขตของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง 2) ผลประโยชน์ของสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรมีน้อย เมื่อเทียบกับผลกระทบของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อเรียกร้อง 3) ความเป็นไปได้ในการตอบโต้ตามมาตรา 301 ไม่มากอย่างที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ผลกระทบจากการตอบโต้มีมากและ 4) การคุ้มครองคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์จะมีผลกระทบอย่างมหาศาล จากผลการศึกษาดังกล่าวประเทศไทยควรจะ 1) แสวงหาหลักฐานที่สหรัฐฯ ยอมรับได้เพื่อพิสูจน์พันธกรณี 2) เสริมสร้างประสิทธิภาพในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี 3) พิจารณาและวิเคราะห์ปัญหาเพื่อกำหนดท่าทีในการแก้ไขปัญหา 4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้า 5) ส่งเสริมการขยายและบุกเบิกตลาด ส่งเสริมการลงทุน 6) เร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ 7) หากจะแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์จะต้องเป็นการคุ้มครองที่เหมาะสม