Abstract:
ปัจจุบันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมิได้มีผลกระทบแต่เพียงภายในประเทศที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ยังมีผลไปยังประเทศอื่นๆ โดยมีการรวมตัวกันในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชญากรรม ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สหประชาชาติจึงได้ประกาศใช้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 โดยได้บัญญัติให้การฟอกเงินเป็นความผิดอาญา ซึ่งประเทศที่จะเป็นสมาชิกจะต้องมีกฎหมายฟอกเงินขึ้นใช้ภายในประเทศ ประเทศไทยจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต่อมาจึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวโดยได้กำหนดให้คณะกรรมการธุรกรรมและเลขาธิการฯ ต้องรายงานการปฏิบัติงานตามหมวดสี่ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นอกเหนือจากการรายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไม่บรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จึงมุ่งศึกษาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต และหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยศึกษาวิเคราะห์ถึงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อขัดข้องที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ของคณะกรรมการธุรกรรมและเลขาธิการฯ โดยผู้เขียนได้เสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายในการที่จะลดข้อขัดข้องในการปฏิบัติ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมมีประสิทธิภาพสมดังเจตนารมณ์ของการประกาศใช้กฎหมายฟอกเงิน