Abstract:
งานศึกษาชิ้นนี้เป็นการทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางการเมืองซึ่งมีข้อสมมติว่าในกรณีที่นักการเมืองได้รับเลือกตั้งแล้วเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลย่อมมีแนวโน้มในการจัดสรรงบประมาณไปสู่พื้นที่ฐานเสียงทางการเมืองของตน ตามแนวคิดสำนักทางเลือกสาธารณะ ว่าด้วยพฤติกรรมของนักการเมือง โดยเป็นการทดสอบเชิงปริมาณจากแบบจำลองวิธีกำลังสองน้อยที่สุด (Ordinary Least Square: OLS) สำหรับปัจจัยที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองซึ่งพิจารณาจากรูปแบบพื้นที่ฐานเสียงของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งในปี 2550 และปัจจัยที่ไม่ใช่การเมืองซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในปี 2552 ได้แก่ จำนวนประชากร พื้นที่ภัยพิบัติ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่รวมเงินอุดหนุน ได้แก่ รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง และรายได้จากภาษีจัดสรรจากรัฐบาล จากการศึกษา พบว่า ปัจจัยทางการเมืองมีผลต่อการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีพื้นที่ฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย (ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและทำหน้าที่บริหารจัดการกระทรวงมหาดไทย) ที่ได้รับเลือกตั้งแบบยกเขตมีอิทธิพลต่อการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในเชิงบวก ขณะที่พื้นที่ฐานเสียงรูปแบบอื่นมีอิทธิพลในเชิงลบ สำหรับตัวแปรที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเมือง พบว่า มีเพียงปัจจัยทางด้านรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่รวมเงินอุดหนุนเท่านั้นที่มีผลต่อการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจซึ่งให้ผลในเชิงบวกแสดงว่าการจัดสรรเงินมีแนวโน้มที่จะพิจารณาจัดสรรให้กับท้องถิ่นที่มีรายได้สูงแทนที่จะจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อลดช่องว่างทางการคลังให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดงบประมาณต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ