Abstract:
ปัจจุบันอุบัติการณ์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี และซี ในประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา และลาว ยังมีข้อมูลน้อยมากหรือมีไม่เพียงพอโดยเฉพาะในแนวลึก งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์หาความชุก และจีโนไทป์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี และซี ของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ตรวจหา mutation ของไวรัสในบริเวณส่วนของยีนที่สนใจ เพื่อเป็นแนวทางในการบอกวิวัฒนาการและเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้ในการป้องกันโรคให้กับคนไทยในอนาคต ไวรัสตับอักเสบ เอ: ตัวอย่างชาวต่างด้าวทั้งหมด 1,183 คน (394 คน, 394 คน จากชาวพม่า กัมพูชา และลาวตามลำดับ) เป็นเพศชาย 594 คน เพศหญิง 589 คน อายุโดยเฉลี่ย 28.1 ปี (ค่าความแปรปรวนมาตรฐานเท่ากับ 9 ปี) จากการตรวจ Anti-HAV ด้วยวิธี ELISA พบความชุก 85.6% ในผู้ป่วยชาวลาว และประมาณ 100% ในผู้ป่วยชาวพม่าและกัมพูชา ไวรัสตับอักเสบ บี: ตัวอย่างน้ำเหลืองจากชาวพม่า กัมพูชา และลาว จำนวน 1,119 คน และ 787 คน ตามลำดับ พบความชุกของ HBsAg 9.7%, 10.8% และ 6.9% ในแรงงานพม่า กัมพูชาและลาว ตามลำดับ ตัวอย่างที่ให้ผลบวกของ HBsAg ทั้งหมด 282 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส จำนวน 224 ตัวอย่าง (9.4%๗ โดยจำแนกออกเป็นจีโนไทป์ C (86%, 99% จำแนกเป็นจีโนไทป์ย่อย C1) และจีโนไทป์ B (11.6%, 30.8 จำแนกเป็นจีโนไทป์ย่อย B2, 34.6% จำแนกเป็นจีโนไทป์ย่อย B3 และ 30.8% จำแนกเป็นจีโนไทป์ย่อย B4) 18% ของตัวอย่างที่ให้ผลบวกของดีเอนเอไวรัส พบ point mutation ในบริเวณ “a” determinant หลายจุด โดยการกลายพันธุ์ที่พบมากเป็นแบบ Ile126/Ser/Asn จากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของไวรัสทั้งหมดพบ 19.1% เป็น pre-s mutation 7.7% เป็น pre-s start deletion 3.8% เป็น pre-s start codon mutation 3.3% เป็น pre-s start codon deletion/mutation ไวรัสตับอักเสบ ซี: ชาวต่างด้าวอายุตั้งแต่ 15-60 ปี จากชาวพม่า กัมพูชา และลาว จำนวน 1,594 คน, 143 คน และ 882 คน ตามลำดับ พบความชุกของ Anti-HCV ในแรงงานชาวพม่า 1.7%, กัมพูชา 2.3% และลาว 0.8% ในจำนวนตัวอย่างที่ให้ผลบวดของ Anti-HCV ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในชาวพม่าจำนวน 15 คน กัมพูชา 25 คน และลาว 1 คน ในตัวอย่างที่ให้ผลบวกทั้งหมดถูกนำไปวิเคราะห์รหัสสารพันธุกรรม และจัดจำแนกจีโนไทป์เรียงตามลำดับดวามชุกที่พบได้ดังนี้ จีโนไทป์ 1a, 1b, 3a, 3b และ 6 (6e, 6f, 6m, 6p และ 6m) กลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวต่างด้าวจากพม่า กัมพูชา และลาว พบความชุกของไวรัสตับอักเสบ เอ ในอัตราสูงมาก ความชุกของไวรัสตับอักเสบ บี ในอัตราค่อนข้างสูง โดยพบจีโนไทป์ C1 มากที่สุด และพบความหลากหลายจากการกลายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบ บี หลายชนิด และพบความชุกของไวรัสตับอักเสบ ซีในอัตราใกล้เคียง และต่ำกว่าประเทศไทย รวมทั้ง พบความหลากหลายของไวรัสตับอักเสบ ซี จีโนไปท์ 6 ทั้งที่พบได้ในประเทศไทย และไม่พบในประเทศไทยหลายชนิด งานวิจัยนี้อาจสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของการติดเชื้อไวรัสทั้งสามชนิดในประชากรปกติของประเทศพม่า กัมพูชา และลาว รวมทั้งชาวไทยควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ และบี ก่อนเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวด้วย