Abstract:
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากพหุปัจจัย รวมไปถึงความผิดปกติของระบบประสาท โมโนเอมีเนอร์จิก ในปัจจุบัน โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ส่งผลมหาศาลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยผู้ป่วยต้องกินยาต้านโรคซึมเศร้าเป็นระยะเวลานาน ซึ่งนอกจากมีราคาแพงแล้ว ยังมีผลข้างเคียงของยาและมีสิทธิภาพไม่ดีนัก ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงศึกษาหาสารต้านโรคซึมเศร้าชนิดใหม่ที่ให้ผลข้างเคียงต่ำ มีประสิทธิภาพสูงและราคาไม่แพง ทั้งนี้ ได้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพร ได้แก่ ใบสะระแหน่ (Mentha cordifolia Opiz ex Fresen) ใบขี้เหล็ก (Senna siamea (Lam.)) และบัวบก (Centella asiatica (L.)) ที่สกัดด้วยสารละลายเอทานอล และน้ำ ต่อการต้านโรคซึมเศร้า โดยใช้เซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงชนิด LAN-5 เป็นแบบในการทดลอง โดยมุ่งวิเคราะห์ผลของสารสกัดต่อสองกลไกคือ การแสดงออกของยีน hDAT, hSERT และ hNET ในระดับ mRNA โดยใช้เทคนิค RT-PCR และการยับยั้งการทำงานของโปรตีนขนส่งสารสื่อประสาทชนิดซีโรโทนิน โดพามีน และนอร์อิพิเนฟริน โดยใช้เทคนิค uptake assay ด้วยชุดน้ำยา Neurotransmitter transporter uptake assay kit และใช้ยาต้านโรคซึมเศร้า fluoxetine, desipramine และ GBR12935 เป็นยาอ้างอิงในการทดสอบ นอกจากนี้ยังทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดสมุนไพรต่อเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง LAN-5 โดยใช้เทคนิค MTT assay จากการศึกษาพบว่า สารสกัดสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ทั้งที่สกัดด้วยเอทานอลและน้ำ มีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีน hSERT, hDAT และ hNET ได้ในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง LAN-5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สารสกัดใบสะระแหน่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีนขนส่งสารสื่อประสาทชนิดโดพามีนและซีโรโทนิน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) โดยสารสกัดสมุนไพรที่ศึกษานี้ ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยง LAN-5