Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแข็งผิวและการยึดติดกับฐานฟันเทียมของซี่ฟันเทียมสำเร็จรูปและอะคริลิกชนิดบ่มด้วยความร้อน และศึกษาสัดส่วน ชนิดของวัสดุอัดแทรกและปริมาณของสารเชื่อมขวางที่สามารถปรับปรุงสมบัติของอะคริลิกใสสำหรับใช้เป็นวัสดุทำซี่ฟันเทียม โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 เปรียบเทียบอะคริลิกชนิดบ่มด้วยความร้อนกับซี่ฟันเทียมอะคริลิกทางการค้าได้แก่ ฟันเมเจอร์เดนท์ (Mj) ฟันออร์โทลักซ์ท็อป (Or) ฟันเทอร์โมพลาสติก (PCP) อะคริลิกใส (clear) และอะคริลิกสีเหมือนฟัน(4F) ตอนที่ 2 เปรียบเทียบการเติมวัสดุอัดแทรกในอะคริลิกใส คือ แก้วขนาดไมโครร้อยละ 10 (BBAS 10%) และร้อยละ 15 (BBAS 15%) และซิลิกาขนาดนาโนร้อยละ 1 (Si 1%)และร้อยละ 3 (Si 3%) เลือกสูตรที่ให้ค่าแข็งวิกเกอร์ส(VHN)สูงสุดมาศึกษาต่อในตอนที่ 3 คือ เปรียบเทียบการเติมซิลิกาขนาดนาโนร้อยละ 3 ร่วมกับสารเชื่อมขวางเอทิลีนไกลคอลไดเมทาคริเลตร้อยละ 10 (Si 3%+EG 10%) และร้อยละ 20 (Si 3%+EG 20%) โดยมีชิ้นตัวอย่างกลุ่มละ 10 ชิ้น นำมาทดสอบความแข็งวิกเกอร์ส 5 ครั้งด้วยแรง 300 กรัมเป็นเวลา 15 วินาที โดยนำค่ากึ่งกลางมาหาค่าเฉลี่ยเป็นค่าความแข็งวิกเกอร์ส (VHN) และทดสอบความแข็งแรงยึดติดแบบดึง (TBS) กับฐานฟันเทียม นำข้อมูลมาทดสอบทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวและทำการเปรียบเทียบเชิงซ้อนแบบแทมเฮน และแบบทูกีย์ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการทดลองตอนที่ 1 พบว่า clear (21.30±0.29) มีค่า VHN ต่ำสุด ส่วน PCP (22.41±0.64) มีค่า VHN ปานกลางเทียบเท่า 4F (22.14±0.50) และ Mj (22.90±0.70) ส่วน TBS พบว่า PCP(8.55±2.70) ให้ค่า TBS มีค่าต่ำสุด clear (26.59±7.19) มีค่าTBS ใกล้เคียงกับ 4F (21.40±6.37) และ Or (40.65±9.01) มีค่า TBS ใกล้เคียงกับ Mj (38.25±6.96) ตอนที่ 2 พบว่า BBAS 10% (22.29±0.21) BBAS 15% (21.95±0.41) และ Si 3% (23.09±0.23) เพิ่ม VHN ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีค่า TBS ใกล้เคียงกัน โดย Si1% และ Si3% ไม่พบรูปแบบการแตกหักแบบแอดฮีซีฟ แต่ BBAS 15% พบรูปแบบการแตกหักในซี่ฟันเทียม และตอนที่ 3 พบว่า Si 3%+EG 20% (23.34±0.43) มีค่า VHN สูงกว่า Si 3% อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การเติมวัสดุอัดแทรกร่วมกับสารเชื่อมขวางทำให้ TBS ต่ำลงได้อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและพบรูปแบบการแตกหักในซี่ฟันเทียมสูงขึ้นในกลุ่ม Si 3%+EG 20%