Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษา แนวพุทธที่มีต่อความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต และศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจเกี่ยวกับความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตของนักศึกษากลุ่มทดลองด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ (1) ข้อมูล เชิงปริมาณได้จากการวิจัยกึ่งทดลองที่มีกลุ่มควบคุมโดยมีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ที่มีคะแนนจากแบบวัดความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 0.5 ของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จำนวน 12 คน แบ่งเป็น กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 6 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมกลุ่ม ใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันในเวลา 2 วัน วันละ 3 ช่วง ช่วงละ 3 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 6 ช่วง วัดความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต 3 ครั้ง ได้แก ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และระยะติดตามผล 2 สัปดาห์ ด้วยแบบวัดความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (2) ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่มทดลองที่สมัครใจให้สัมภาษณ์ ในระยะหลังการทดลอง จำนวน 6 คน ผลการวิจัยพบว่า 1.หลังการเข้ากลุ่ม และระยะติดตามผล 2 สัปดาห กลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และมีคะแนนความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตในระยะหลังเข้ากลุ่ม และระยะติดตามผลไม่แตกต่างกัน 2.หลังการเข้ากลุ่ม และระยะติดตามผล 2 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .01 ตามลำดับ 3.การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า หลังการเข้ากลุ่มสมาชิกได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อชีวิต สัมผัสสัมพันธภาพที่เกื้อกูล และมีความหมายที่เอื้อต่อการเข้าใจชีวิตและปัญหาที่ประสบอย่างสอดคล้องตามจริง และรับรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนนั้น สามารถ (1) ทำความเข้าใจได้ (2) จัดการแก้ไขปัญหาอย่างสอดคล้องตามจริงได้ และ (3) เรียนรู้ เห็นคุณค่าและความหมายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต สัมพันธภาพที่อบอุ่นและไว้วางใจที่เอื้อโดยผู้นำกลุ่มน่าจะเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่นำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตของสมาชิกกลุ่ม