Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย กับฝ่ายบริหาร จากผลการศึกษาบทบาทของรัฐสภาในกระบวนการนิติบัญญัติ ช่วง พ.ศ. 2544-2549 ซึ่งเป็นช่วงพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พบว่า รัฐบาลทักษิณเข้าสู่ตำแหน่งและบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันมีกลไกที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่มาก แต่รัฐสภาไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 บทบาทของรัฐสภาในการพิจารณากฎหมายกลับมีอยู่อย่างจำกัด อำนาจที่แท้จริงกลับเป็นของฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ร่างกฎหมายที่เสนอส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหาร และเพิ่มอำนาจของนายกรัฐมนตรีให้มีความเป็นผู้นำมากยิ่งขึ้น กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ในขณะนั้นจึงมิได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากระบบกฎหมายไทย แทบไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างมีประสิทธิภาพเลย ซึ่งจะเห็นได้จากกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับกฎหมายตามนโยบายของฝ่ายบริหารในช่วงเวลานั้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารจึงเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนากฎหมายที่ตอบเสนอต่อความต้องการของประชาชน ด้วยโครงสร้างทางการเมืองที่สร้างความเข้มแข็งของนายกรัฐมนตรีอย่างเปี่ยมล้น กลับกลายเป็นสิ่งที่สวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในอันที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด โดยการใช้ภาวะความเป็นผู้นำทางการเมืองดังกล่าว มาครอบงำพรรคการเมือง และกลไกในระบบรัฐสภาใด้ออกกฎหมายต่างๆ ตามความต้องการของตนมากกว่ามุ่งพิทักษ์ประโยชน์ของมหาชน