Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มพัฒนาตนและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ และการฝึกอานาปานสติที่มีต่อภาวะอุเบกขาและปัญญา รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลองที่มีกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มและกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน 41 คน คัดเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากนั้นสุ่มอย่างง่ายเข้าเป็นกลุ่มทดลองที่ 1 จำนวน 14 คนที่เข้ากลุ่มพัฒนาตนและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธในช่วงที่ 1 และฝึกอานาปานสติในช่วงที่ 2 กลุ่มทดลองที่ 2 จำนวน 13 คนที่ฝึกอานาปานสติในช่วงที่ 1 และเข้ากลุ่มพัฒนาตนและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธในช่วงที่ 2 และกลุ่มควบคุมจำนวน 14 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมทดลองใด ๆ โดยมีระยะเวลาเข้ากลุ่มพัฒนาตน ฯ และฝึกอานาปานสติ กระบวนการละ 20 ชั่วโมงหรือ 7 ช่วงเวลา และดำเนินการวิจัยใน 2 รุ่น หลังการทดลองสัมภาษณ์เชิงลึกสมาชิกกลุ่มทดลองจำนวน 7 คน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบวัดภาวะอุเบกขา แบบวัดปัญญาฉบับสั้น บันทึกประจำวัน แบบประเมินการรับรู้ของสมาชิกกลุ่ม และแบบประเมินการรับรู้การฝึกอานาปานสติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติ MANOVA และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า 1) หลังการทดลองช่วงที่ 1 กลุ่มทดลองที่ 1 ที่เข้ากลุ่มพัฒนาตนและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธมีคะแนนภาวะอุเบกขาและปัญญาสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 และมีคะแนนภาวะอุเบกขาและคะแนนปัญญาสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .01 ส่วนกลุ่มทดลองที่ 2 ที่ฝึกอานาปานสติมีคะแนนภาวะอุเบกขาสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่มีคะแนนปัญญาไม่แตกต่างจากช่วงก่อนการทดลอง และมีคะแนนภาวะอุเบกขาและคะแนนปัญญาไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่คะแนนภาวะอุเบกขาและคะแนนปัญญาของกลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน 2) หลังการทดลองช่วงที่ 2 กลุ่มทดลองที่ 1 มีคะแนนภาวะอุเบกขาไม่แตกต่างจากช่วงหลังการทดลองที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่มีคะแนนปัญญาสูงกว่าช่วงหลังการทดลองที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีคะแนนภาวะอุเบกขาและคะแนนปัญญาสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .001 ส่วนกลุ่มทดลองที่ 2 หลังการทดลองช่วงที่ 2 มีคะแนนภาวะอุเบกขาสูงกว่าหลังการทดลองช่วงที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แต่มีคะแนนปัญญาไม่แตกต่างจากหลังการทดลองช่วงที่ 1 และมีคะแนนภาวะอุเบกขาและคะแนนปัญญาสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ .05 อย่างไรก็ตาม หลังการทดลองช่วงที่ 2 คะแนนภาวะอุเบกขาและคะแนนปัญญาของกลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่า ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกยืนยันความเป็นจริงของภาวะอุเบกขาและปัญญาที่เกิดขึ้นในสมาชิกกลุ่มทดลอง