Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งที่แตกต่างกันตำรวจมีการเลือกใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่แตกต่างกันหรือไม่ และภาวะผู้นำแบบเต็มพิสัยสามารถทำนายรูปแบบการจัดการความขัดแย้งได้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ตำรวจระดับชั้นสัญญาบัตร ได้แก่ ตำรวจที่มียศร้อยตำรวจตรีขึ้นไปถึงพันตำรวจเอก จากสถานีตำรวจนครบาลในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 274 นาย ผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างตอบมาตรวัดความเป็นผู้นำหลายองค์ประกอบ เพื่อใช้ในการวัดภาวะสันนิษฐานของภาวะผู้นำแบบเต็มพิสัยตามทฤษฎีของ Bass (1985) จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างอ่านสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ความยาวเรื่องละ 150 คำ จำนวน 8 สถานการณ์ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา ความขัดแย้งกับผู้ใต้บังคับบัญชา ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน และความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับประชาชน ระดับละ 2 สถานการณ์ แต่ละสถานการณ์ตามด้วยประโยคที่แสดงถึงรูปแบบการจัดการความขัดแย้ง 5 รูปแบบ รูปแบบละ 1 ประโยค โดยมีการปรับเนื้อความให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่สร้างขึ้น ผลการวิจัยพบว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่แตกต่างกัน ตำรวจมีการเลือกใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่แตกต่างกัน และภาวะผู้นำแบบเต็มพิสัยสามารถทำนายรูปแบบการจัดการความขัดแย้งทั้ง 5 รูปแบบได้