Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบการยึดอยู่ของเดือยฟันสำเร็จรูปชนิดเหล็กกล้าไร้สนิมที่มีลักษณะพื้นผิวแตกต่างกัน ด้วยการทดสอบความต้านทานต่อแรงดึงและ แรงบิดหมุน ใช้ฟันกรามน้อยล่างจำนวน 100 ซี่ ทำการรักษารากฟัน เตรียมช่องว่างสำหรับใส่เดือยฟัน ด้วยหัวเจาะของระบบพาราโพสท์ (ParaPost) เบอร์ 5 จากนั้นยึดเดือยฟันทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยเดือยฟันระบบพาราโพสท์ ที่มีพื้นผิวเป็นเกลียวถี่ร่วมกับมีร่องแนวขวาง รอยปั๊มนูน (PP, XP) และเดือยฟันที่ผลิตขึ้นซึ่งมีพื้นผิวเป็นเกลียวห่าง เกลียวถี่ และผิวเรียบ (TPP1, TPP2, SSP) ด้วยซิงค์ฟอสเฟตซีเมนต์ (Hy-Bond) และแบ่งชิ้นงานในแต่ละกลุ่มเพื่อทำการทดสอบ 2 อย่าง (n=10) คือ การทดสอบความต้านทานต่อแรงดึงด้วยเครื่องทดสอบสากล (Lloyd) ใช้ความเร็วหัวดึง 5 มิลลิเมตร/นาที และ การทดสอบความต้านทานต่อแรงบิดหมุนด้วยเครื่องทดสอบแรงบิดระบบมอเตอร์ (Nextech) บิดในทิศทางตามเข็มนาฬิกา สถิติที่ใช้ คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และวิเคราะห์หาความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติบอนเฟอร์โรนี ผลการวิจัยพบว่ากลุ่ม TPP1 และ XP มีค่าเฉลี่ยทั้งของแรงดึง (395.73 ± 46.38 และ 391.09 ± 43.47 N) และแรงบิดหมุน (23.67 ± 4.19 และ 23.54 ± 3.88 N-cm) สูงที่สุด ในขณะที่กลุ่ม SSP มีค่าเฉลี่ยของแรงทั้งสองต่ำที่สุด (147.80 ± 27.85 N และ 6.33 ± 1.48 N-cm) นอกจากนั้นพบว่าค่าแรงดึง และแรงบิดมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดยแรงบิดมีค่าน้อยกว่าแรงดึงประมาณ 20 เท่า จึงสรุปได้ว่าลักษณะพื้นผิวที่แตกต่างกันมีผลต่อความต้านทานต่อแรงดึง และแรงบิดหมุนของเดือยฟันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเดือยฟันที่มีพื้นผิวลักษณะเป็นร่องกว้างและลึกจะมีความต้านทานต่อแรงดึง และแรงบิดหมุนดีกว่าชนิดอื่น