Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจข้อมูลในกลุ่มทันตแพทย์ภาครัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกี่ยวกับการจัดการผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำหน้าที่ของระบบบดเคี้ยว วัสดุและวิธีการ สำรวจทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 857คน โดยใช้แบบสอบถามทางไปรษณีย์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษา แบบสอบถามตอบกลับที่มีข้อมูลเพียงพอจำนวน 509 ชุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นชายจำนวน 139 คน และหญิงจำนวน 370 คน มีอายุตั้งแต่ 24 ถึง 58 ปี (เฉลี่ย 33.9 ปี) ปฏิบัติงานใน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และอื่น ๆ ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75.2) ปฏิบัติงานทั้งทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทางโดยไม่ปรากฏทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมบดเคี้ยวตอบแบบสอบถาม ทันตแพทย์ทุกคนพบผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวโดยมีอาการและ/หรืออาการแสดงอย่างน้อยหนึ่งอาการ ทันตแพทย์เกือบทุกคน (ร้อยละ 98.8) พบผู้ป่วยที่มีฟันและ/หรือวัสดุบูรณะฟันสึกจนมีอาการเสียวฟัน รองลงมา(ร้อยละ68.73- 88.4 )พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวข้องกับเท็มโพโรแมนดิบิวลาร์ดิสออเดอร์(ทีเอ็มดี) และทันตแพทย์จำนวนมาก (ร้อยละ 53.2-70.3) พบผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการสบฟันและการบดเคี้ยว ทันตแพทย์ทุกคนให้การตรวจและรักษาผู้ป่วย ด้วยวิธีที่หลากหลายตามอาการต่างๆ และมีทันตแพทย์จำนวนไม่น้อยส่งต่อผู้ป่วย ไปยังบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ โดยส่งไปยังทันตแพทย์อื่นมากที่สุดด้วยสาเหตุของการขาดบุคลากร ความรู้/ทักษะ และเครื่องมือ ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนมักจะส่งต่อผู้ป่วย ที่มีอาการต่างๆ ไปยังโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอื่นๆ ในขณะที่ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มักส่งต่อผู้ป่วยไปยังคณะทันตแพทยศาสตร์ ด้วยเหตุผลว่ามีความพร้อมมากกว่า สรุป ทันตแพทย์ภาครัฐในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยพบผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวได้ทั่วไป โดยทันตแพทย์ให้การจัดการผู้ป่วยเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง