Abstract:
งานวิจัยนี้ได้ย้อมชิ้นเนื้อที่ตัดจากปุ่มประสาทไรเจมินัลทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาของหนูเอ็นเอ็มอาร์ไอ (NMRI) เพศเมีย จำนวน 10 ตัว ด้วยสีโทลูอิดีน บลู โดยวิธีของ Lillie เพื่อดูความสัมพันธ์ของแมสท์เซลล์และเนื้อเยื่อของปุ่มประสาทที่ปรากฎอยู่ในแผ่นชิ้นเนื้อเดียวกัน นับจำนวนของแมสท์เซลล์ที่เห็นในชิ้นเนื้อที่ตัดทุก ๆ ลำดับที่ 20 ตามตำแหน่งที่ได้ตั้งเกณฑ์ไว้ 5 ตำแหน่ง คือ 1. แมทส์เซลล์ที่ฝังตัวอยู่ระหว่างเส้นใยประสาทที่ทอดเข้า และออกจากปุ่มประสาท 2. แมสท์เซลล์ที่ฝังตัวอยู่ในปลอกประสาทเอพินิวเรียม และในปลอกประสาทเพอรินิวเรียม 3. แมสท์เซลล์ที่ฝังตัวอยู่ระหว่างเส้นใยประสาทภายในปุ่มประสาท 4. แมสท์เซลล์ที่ฝังตัวใกล้ชิดกับเซลล์ประสาทรับรู้สึกภายในปุ่มประสาทโดยที่มันจะต้องสัมผัสกับผนังของเซลล์ประสาท หรือเซลล์บริวารที่ล้อมรอบเซลล์ประสาทรับรู้สึกนั้น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งและ 5. แมสท์เซลล์ที่ฝังตัวอยู่ภายในถุงหุ้มปุ่มประสาท ผลของงานวิจัยนี้ได้พบว่า ปริมาณเฉลี่ยของแมสท์เซลล์ที่พบในทุกตำแหน่งของปุ่มประสาท ทางด้านซ้ายมีมากกว่าทางด้านขวา แต่ที่มีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ แมสท์เซลล์ที่ฝังตัวอยู่ระหว่างเส้นใยประสาทภายในปุ่มประสาท (P<0.001) การพบแมสท์เซลล์ในเนื้อเยื่อของปุ่มประสาทไตรเจมินัลและแขนงของมัน อาจกล่าวได้ว่ามันมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเนื้อเยื่อประสาท โดยเฉพาะผลผลิตของแมสท์เซลล์ คือ ฮีสตามีนและซีโรโทนินอาจเป็นเค็มมิคัล เมดิเอเตอร์ช่วยให้การส่งกระแสประสาทไปได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงส่วนประกอบที่อาจจะมีอิทธิพลต่อปริมาณของแมสท์เซลล์ในปุ่มประสาทไตรเจมินัลของหนูเม้าส์ด้วย