Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาอัตราความชุกของการสบพันผิดปกติ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศของอัตราดังกล่าว และประเมินความต้องการทางทันตกรรมจัดฟันในเด็กไทยกลุ่มหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 873 คน ชาย 458 คน หญิง 415 คน ได้จากการสุ่มจากเด็กนักเรียนในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดชลบุรีจำนวน 4 อำเภอ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีอายุ 12-14 ปี พัฒนาการอยู่ในระยะฟันแท้ และไม่เคยได้รับการบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟันมาก่อน ลักษณะการสบฟันผิดปกติศึกษาจากหุ่นจำลองแบบฟัน โดยใช้เกณฑ์การสำรวจจององค์การอนามัยโลก ผลการวิจัยสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. ความผิดปกติเกี่ยวกับสภาพฟันแต่ละซี่ซึ่งพบมากที่สุด คือ การมีฟันแท้ขาดหายไป (31.80%) ความผิดปกติเกี่ยวกับสภาพช่องว่างซึ่งพบมากที่สุด คือ ฟันซ้อนเก (37.54%) และความผิดปกติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของฟันบนล่างซึ่งพบว่ามากที่สุด คือ เส้นกึ่งกลางฟันเบี่ยงเบน (19.06%) 2. การสบฟันผิดปกติซึ่งมีความแตกต่างระหว่างเพศ คือ ขนาดโอเวอร์ไบท์มากกว่าปกติ มักพบในเด็กชายมากกว่า 3. ในบรรดากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 17.87% ไม่จำเป็นต้องบำบัดรักษาทางทันตกรรม จัดฟัน ในขณะที่ 16.38% ควรเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลง 45.70% จำเป็นต้องบำบัดรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน และ 20.05% จำเป็นต้องบำบัดรักษาเร่งด่วน ตามลำดับ