Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ครอบครัว และสังคมของวัยรุ่นชายที่กระทำผิดครั้งแรก วัยรุ่นชายที่กระทำผิดซ้ำ และวัยรุ่นชายทั่วไปว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นชายที่กระทำผิดในความผิดร้ายแรงและวัยรุ่นชายทั่วไป จำนวน 317 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นชายที่กระทำผิดครั้งแรก จำนวน 137 คน กลุ่มวัยรุ่นชายที่กระทำผิดซ้ำ จำนวน 80 คน และกลุ่มวัยรุ่นชายทั่วไป จำนวน 100 คน กลุ่มตัวอย่างตอบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความหุนหันพลันแล่น แบบวัดความก้าวร้าว แบบวัดความร่วมรู้สึกกับผู้อื่น แบบวัดความผูกพันกับผู้ปกครอง แบบวัดการควบคุมดูแลของผู้ปกครอง (ตามการรับรู้ของวัยรุ่น) และแบบวัดการเป็นอิสระจากบรรทัดฐานของกลุ่มเพื่อน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนตัวแปรพหุนาม (MANOVA) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายคู่ (Multiple comparison) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยตัวแปรในแต่ละกลุ่มตัวอย่างผลการวิจัย พบว่า โดยรวมแล้วตัวแปรที่ศึกษาทั้ง 9 ตัว ซึ่งแบ่งออกเป็นสามปัจจัยคือ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ความหุนหันพลันแล่น ความก้าวร้าว ความร่วมรู้สึกกับผู้อื่น และการใช้สารเสพติด ปัจจัยด้านครอบครัว ได้แก่ ความผูกพันกับผู้ปกครอง การมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยกระทำผิด และการควบคุมดูแลของผู้ปกครอง และปัจจัยด้านสังคม ได้แก่ การมีเพื่อนสนิทที่เคยกระทำผิด และการเป็นอิสระจากบรรทัดฐานของกลุ่มเพื่อน นั้นมีความแตกต่างกันระหว่างวัยรุ่นทั้งสามกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Pillai's Trace = 12.384, p<.001; Wilks' Lambda = 13.713, p<.001; Hotelling's Trace = 15.062, p<.001; Roy's Largest Root = 28.811, p<.001) จากการทดสอบความแปรปรวนเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยในแต่ละตัวแปรตาม พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติทุกตัวแปร ภายหลังจากการเปรียบเทียบรายคู่ (Multiple-Comparisons) พบว่าวัยรุ่นชายที่กระทำผิดซ้ำมีคะแนนความหุนหันพลันแล่น ความก้าวร้าว การควบคุมดูแลของผู้ปกครอง การมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยกระทำผิด และการมีเพื่อนสนิทที่เคยกระทำผิดสูงที่สุด ในขณะที่การเป็นอิสระจากบรรทัดฐานของกลุ่มเพื่อนต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองกลุ่มที่เหลือ