Abstract:
การศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของคนในประเทศนั้นนับว่ามีความสำคัญต่อผู้ดำเนินนโยบายในไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งวัดเป็นมูลค่าได้ถึง 50% ของ GDP ของประเทศ แต่อย่างไรก็ดีการศึกษาทฤษฎีการบริโภคในไทยยังคงยึดติดกับรูปแบบฟังก์ชันอรรถประโยชน์แบบเดิม กล่าวคือจากผลการทดสอบทางด้านจิตวิทยาพบว่าคนเรามักจะแสดงออกพฤติกรรมที่มีลักษณะอ้างอิงกับตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังมีลักษณะพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความสูญเสียอยู่ในฟังก์ชันอรรถประโยชน์ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง งานวิจัยชิ้นนี้จึงให้ความสนใจในการทดสอบทฤษฎีการบริโภครายได้ถาวรตลอดช่วงชีวิตภายใต้พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความสูญเสียและการบริโภคที่อ้างอิงกับบุคคลอื่น การศึกษาทำโดยใช้ข้อมูล SES ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533-2547 ซึ่งในการศึกษาจำเป็นต้องสร้างข้อมูล Cohort data ขึ้นมาทดแทนข้อมูล Panel data ที่ไม่สามารถหาได้ โดยวิธีการจัดกลุ่มครัวเรือนตามลักษณะของภูมิภาค เขตที่อยู่ อายุของหัวหน้าครัวเรือน และรายได้ เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจึงนำไปทดสอบด้วย Euler equation เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของแต่ละช่วงเวลากับตัวแปรการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ การเปลี่ยนแปลงการบริโภคของคนในภูมิภาคอื่นๆ รสนิยม และอัตราดอกเบี้ย จากผลการทดสอบพบว่าการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของผู้บริโภคมีอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับรายได้ โดยที่ผลจากการลดลงของรายได้จะส่งผลมากกว่าผลจากการเพิ่มของรายได้ หรือกล่าวได้ว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความสูญเสียในการบริโภคจริง ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคที่อ้างอิงกับผู้อื่นนั้นพบว่าภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพ เป็นภูมิภาคที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของครัวเรือนในภาคอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ