Abstract:
ความขัดแย้งในแนวทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ "เผด็จการรัฐนิยม" กับ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475-2490 เป็นการศึกษาที่มุ่งตรงต่อด้านอุดมการณ์ที่ว่า ปัจจัยทางด้านอุดมการณ์เป็นปัจจัยหนึ่งร่วมกับปัจจัยอื่น ได้แก่ ปัจจัยด้านอำนาจและผลประโยชน์ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลาดังกล่าว การศึกษาจึงนำเสนอสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยระหว่างบุคคล 2 กลุ่มดังกล่าวว่ามีลักษณะเป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ และจากการศึกษาค้นคว้าทางด้านเอกสาร คือ เอกสารชั้นต้น เช่น สุนทรพจน์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และงานเขียนของนายปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับเอกสารชั้นรองที่นักวิชาการท่านอื่นได้ศึกษาเกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ในช่วง พ.ศ. 2475-2490 ได้พบว่าความขัดแย้งในกลุ่มผู้นำไทยระหว่างกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ กลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลา พ.ศ. 2475-2490 นั้น มีเงื่อนแง่ของความแตกต่างของอุดมการณ์ หรือระบบความคิดทางการเมือง ที่ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้น แม้รูปแบบความขัดแย้งทางอุดมการณ์จะไม่เด่นชัด เท่าความขัดแย้งด้านอำนาจและผลประโยชน์ ที่มักจะถูกนำมาใช้อธิบายว่าเป็นเหตุของความขัดแย้ง แต่จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยมีความขัดแย้งในแนวทางอุดมการณ์อยู่จริง และหากพิจารณาอย่างถ่องแท้จะเห็นความเชื่อมโยงได้ว่า การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์หรือระบบความคิด ยังคงเป็นความขัดแย้งหลักประการหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งเห็นได้จาก การต่อสู้เรียกร้องในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ในสังคม รวมไปจนถึงข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อเรื่องเกี่ยวกับชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นต้น