Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ตั้งคำถามวิจัยว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน จะมีส่วนช่วยแก้ไขความข้ดแย้งจากการจัดทำ โครงการอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชรได้หรือไม่ โดยอาศัยวิธีการเก็บข้อมูลเอกสาร สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง และการสังเกตการณ์กระบวนการรับฟังความคิดเห็น จากการศึกษาพบว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสามารถแก้ไขความขัดแย้งในส่วนข้อมูล ที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก ของกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการและคัดค้านโครงการ ด้วยการเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างคู่ขัดแย้ง ทำให้เกิดการโต้ตอบในประเด็นและสภาพปัญหา ที่กลุ่มผู้คัดค้านโครงการสงสัย โดยกระบวนการนี้เป็นการตรวจสอบข้อมูลบนฐานสภาพความเป็นจริง เพื่อประกอบการสรุปผล ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็น สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เนื่องจากกระบวนการนี้มีความชอบธรรมที่คณะอนุกรรมการฯ ที่ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็น ได้รับอำนาจหน้าที่โดยตรงจากรัฐ ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตลอดจนความเป็นกลางของคณะอนุกรรมการฯ ทำให้กระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ยอมรับและการเข้ามามีส่วนร่วมของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ขณะที่กระบวนการแก้ไขความข้ดแย้งโดยรัฐที่จัดทำขึ้นก่อนหน้านี้ อันได้แก่ กระบวนการลงประชามติ และกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มผู้สนับสนุนโครงการและคัดค้านโครงการได้ เนื่องจากขาดการยอมรับในตัวกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง ที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายคัดค้านโครงการเข้ามามีส่วนร่วม และผู้ดำเนินการกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งขาดความเป็นกลาง ทำให้ฝ่ายที่คัดค้านโครงการไม่เข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าว