Abstract:
เปรียบเทียบคุณสมบัติเชิงกล ได้แก่ กำลังดึงวัสดุสูงสุด กำลังดึงประลัย ความเค้นคราก เปอร์เซ็นต์การยืดและพลังงานแตกหักของปลอกโลหะรัดฟันที่มีการกัดผิวด้านในกับปลอกโลหะรัดฟันที่ไม่มีการกัดผิวด้านในว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นปลอกโลหะรัดฟันกรามล่าง ข้างขวาขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งคัดเลือกมาจาก 2 บริษัทปลอกโลหะรัดฟันของบริษัทแรกเป็นชนิดที่ได้รับการกัดผิวด้วยแสงและชนิดที่ไม่ได้รับการกัดผิวด้วยแสง ปลอกโลหะรัดฟันของบริษัทที่สองเป็นชนิดที่ได้รับการเป่าทรายและชนิดที่ไม่ได้รับการเป่าทราย นำปลอกโลหะรัดฟันมาตัดออกแล้วรีดแบนด้วยเครื่องไฮโดรลิค เพรส (Hydrolic press) ด้วยแรง 10 นิวตัน จากนั้นจึงตัดเป็นรูปแบบมาตรฐานของการทดสอบแรงดึงด้วยเครื่องตัดไวร์คัท (Wire cut) ตรวจปลอกโลหะรัดฟันที่ตัดเป็นรูปแบบมาตรฐานแล้วภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูชิ้นงานไม่ให้เกิดการฉีกขาดก่อนที่จะนำมาทดสอบแรงดึง เลือกปลอกโลหะรัดฟันที่ไม่มีการฉีกขาดจำนวนกลุ่มละ 30 ชิ้น นำไปทดสอบแรงดึงด้วยเครื่องทดสอบแรงทั่วไป (Lloyd universal testing machine) เปรียบเทียบความแตกต่างคุณสมบัติเชิงกลของปลอกโลหะรัดฟันชนิดที่มีการกัดผิวด้านในกับชนิดที่ไม่มีการกัดผิวด้านในเฉพาะในบริษัทเดียวกันด้วยการใช้สถิติ t-test ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า ปลอกโลหะรัดฟันชนิดที่ได้รับการกัดผิวด้วยแสงมีค่าเฉลี่ยกำลังดึงวัสดุสูงสุด (635.87 Mpa) ความเค้นคราก (290.40 Mpa) พลังงานแตกหัก (335.25 J/m3) และเปอร์เซ็นต์การยืด (61.85%) สูงกว่าปลอกโลหะรัดฟันชนิดที่ไม่ได้รับการกัดผิวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปลอกโลหะรัดฟันชนิดที่ได้รับเป่าทรายมีพลังงานแตกหัก (231.60 J/m3) และเปอร์เซ็นต์การยืด (59.10%) น้อยกว่าปลอกโลหะรัดฟันชนิดที่ไม่ได้รับการเป่าทรายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวด้านในของปลอกโลหะรัดฟันเพื่อทำให้เกิดการยึดติดกับซีเมนต์ได้มากขึ้นมีผลต่อคุณสมบัติเชิงกลบางประการ