Abstract:
วัตถุประสงค์: งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้าของวัสดุเรซินคอมโพสิตในปัจจุบัน วิธีการทดลอง: วัสดุเรซินคอมโพสิตจำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ (Admira (Voco), CeramX (Dentsply), Filtek Supreme Translucent (3M EDPE), Filtek Supreme Standard (3M ESPE) และ A250 (3M ESPE) จะถูกเตรียมเป็นชิ้นทดสอบรูปแผ่นกลม (เส้นผ่านศูนย์กลาง 13 มม. หนา 2 มม.) และเก็บไว้ในน้ำกลั่นอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสก่อนการทดสอบ ความแข็งแรงแบบสเตติกของวัสดุเรซินคอมโพสิต (n=15) ได้จากการทดสอบความแข็งแรงดัดขวางชนิดไบแอคเซล ส่วนวีสแตร์เคสถูกนำมาใช้เพื่อหาความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้าของวัสดุที่ได้จากการให้แรงจำนวน 10,000 รอบแก่ชิ้นทดสอบด้วยความถี่ 2.0 รอบ/วินาที ผลการทดลอง: Filtek Supreme translucent มีค่าความแข็งแรงแบบสเตติกสูงที่สุด CeramX มีค่าต่ำสุด ในขณะที่ค่าความแข็งแรงแบบสเตติกของ Supreme standard และ Z250 แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ วัสดุ Z250 มีค่าความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้าสูงสุด รองลงมาคือวัสดุ Filtek Supreme standard ตามด้วยวัสดุ Admira และ CeramX ที่มีค่าความแข็งแรงนี้เท่ากัน แต่วัสดุ Filtek Supreme translucent ซึ่งมีค่าความแข็งแรงดัดขวางแบบสเตติกสูงที่สุด กลับมีค่าความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้าต่ำที่สุด ค่าความแข็งแรงแบบสเตติกมีค่ามากกว่าความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้าอย่างมีนัยสำคัญสำหรับทุกผลิตภัณฑ์ และความแข็งแรงแบบสเตติกไม่มีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงกับความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้า สรุป: วัสดุที่มีค่าความแข็งแรงแบบสตติกสูงที่สุดไม่ได้มีค่าความแข็งแรงดัดขวางภายใต้ภาวะความล้าสูงที่สุด การตอบสนองของวัสดุเรซินคอมโพสิตต่อแรงทั้งสองแบบนี้มีความแตกต่างกันขึ้นกับคุณสมบัติของวัสดุ เช่นสตีฟเนส และทัฟเนส ซึ่งขนาดของฟิลเลอร์ และองค์ประกอบในเรซินเมทริกซ์มีผลต่อคุณสมบัติดังกล่าวของวัสดุ เราควรให้ความสำคัญกับค่าความแข็งแรงภายใต้ภาวะความล้าของวัสดุมากขึ้น และนำมาร่วมในการพิจารณาเลือกใช้วัสดุนอกเหนือจากค่าความเข็งแรงแบบสเตติก