Abstract:
ภาวะสุขภาพจิต เป็นปัญหาทางสุขภาพที่มักจะเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยเมื่อมีภาวะ กดดันและความเครียดสะสมในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม ต่อการทำงานหรือต่อสังคม การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตและศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ ภาวะสุขภาพจิตของประชากรวัยแรงงานไทยใน พ.ศ. 2551 โดยได้ปรับแนวคิดจากองค์การ อนามัยโลก (2001) ที่ระบุว่า สุขภาพจิตได้รับอิทธิพลจากปัจจัย 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทาง ชีวภาพ ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยทางจิตมาเป็นกรอบแนวคิดของการศึกษา และการศึกษา นี้ใช้ข้อมูลจากโครงการ “การสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ. 2551” ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยกรณีตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอายุเต็มระหว่าง 15-59 ปี และตอบ แบบสอบถามด้วยตนเอง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 19,168 คน ผลการศึกษาพบว่า ประชากรวัยแรงงานมีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยเท่ากับ 31.86 คะแนนซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป แต่ก็ยังคงมีประชากรวัยแรงงานอีก ประมาณ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 17.18 มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป ผลการวิเคราะห์การ ถดถอยโลจิสติกอย่างง่ายแบบทวิภาค พบว่า อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครัวเรือน เขตที่อยู่อาศัย ภาคที่อยู่อาศัย สัมพันธภาพภายในครัวเรือน สัมพันธภาพภายในชุมชน ค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคม ความมีคุณธรรม-จริยธรรม และการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพกายมีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพจิตแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ ทางสถิติ 0.05 ส่วนผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเชิงพหุแบบทวิภาค พบว่า ที่ระดับ นัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ตัวแปรอิสระทั้ง 14 ตัวร่วมกันอธิบายการแปรผันของการเกิดภาวะ สุขภาพจิตของประชากรวัยแรงงานได้ร้อยละ 11.76 (R2 = 0.1176) นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเชิงพหุขั้นตอนแบบทวิภาค พบว่า ตัวแปรความมีคุณธรรม-จริยธรรม เป็นตัวแปรที่สามารถอธิบายการแปรผันของภาวะ สุขภาพจิตของประชากรวัยแรงงานได้เป็นลำดับแรกคือร้อยละ 4.5 รองลงไปได้แก่ สัมพันธภาพภายในครัวเรือน การรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพกาย ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส สัมพันธภาพภายในชุมชน อายุ ค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคม และเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของภาวะสุขภาพจิตได้ร้อยละ 2.47, 1.91, 1.28, 0.75, 0.44, 0.26, 0.07 และ 0.03 ตามลำดับ ส่วนตัวแปรอิสระตัวอื่น ๆ ไม่ได้เพิ่ม อำนาจการอธิบายที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อ ประโยชน์ในการปรับปรุงสุขภาพจิตของประชากรวัยแรงงานได้