Abstract:
จากการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณและระยะเวลาที่น้ำตาลตกค้างในช่องปาก มีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์การเกิดโรคฟันผุ การศึกษาส่วนใหญ่กระทำโดยการหาปริมาณน้ำตาลในน้ำลาย ภายหลังการอมสารละลายกลูโคสแล้วบ้วนทิ้งด้วยวิธีเทียบสี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ยุ่งยาก ทำให้ไม่สะดวกในการนำไปใช้ในภาคสนาม ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงได้นำแผ่นพลาสติกตรวจน้ำตาลมาใช้แทนวิธีเทียบสี เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแผ่นพลาสติกตรวจน้ำตาลในการทดสอบความสามารถในการกำจัดน้ำตาลในน้ำลายภาคสนามซึ่งอาจจะเป็นวิธีการที่สะดวกในการทำนายอุบัติการณ์การเกิดโรคฟันผุในชุมชนได้ การศึกษานี้ ทำโดยการสุ่มเลือกตัวอย่างประชากร ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและมีฟันแท้ไม่ต่ำกว่า 28 ซี่ จำนวน 40 คน แล้วทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ตามค่าดัชนีผุถอนอุด (DMFT) คือ กลุ่มที่มีฟันผุน้อย (DMFT is less than or equal to 4) และกลุ่มที่มีฟันผุมาก (DMFT > 4) แล้วทำการทดสอบความสามารถในการกำจัดน้ำตาลในน้ำลาย โดยให้อมสารละลายกลูโคสความเข้มข้น 50% นาน 2 นาที บ้วนทิ้ง แล้ววัดปริมาณน้ำตาลในน้ำลายในนาทีที่ 3, 5, 7 และ 10 ตามลำดับ โดยใช้แผ่นพลาสติกตรวจน้ำตาล แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยการทดสอบที (t-test) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำตาลในน้ำลายของกลุ่มตัวอย่างที่มีฟันผุน้อยในนาทีที่ 5, 7 และ 10 น้อยกว่าปริมาณน้ำตาลในน้ำลายในกลุ่มที่มีฟันผุมากอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05) และพบว่าลักษณะรูปแบบการกำจัดน้ำตาลในน้ำลายโดยใช้แผ่นพลาสติกตรวจน้ำตาลของกลุ่มที่มีฟันผุน้อยและกลุ่มที่มีฟันผุมากไม่แตกต่างจากรูปแบบที่ได้จากวิธีเทียบสี จากข้อมูลที่ได้นี้ จึงสรุปได้ว่าแผ่นพลาสติกตรวจน้ำตาลมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะใช้ติดตามความสามารถในการกำจัดน้ำตาลในน้ำลายและใช้ทำนายอุบัติการณ์การเกิดโรคฟันผุภาคสนามได้