Abstract:
การเปรียบเทียบการใช้ฟลูโอซิโนโลน อเซทโทไนด์ โซลูชั่น (fluocinolone acetonide solution-FAS) กับไทรแอมซิโนโลม อเซทโทไนด์ ในออราเบส (Triamcinolone acetonide in orabase-T.A.O.) ในการรักษาผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาลักษณะของผู้ป่วยไลเคน พลานัส ทั้งหมดจำนวน 80 คน ในส่วนนี้ พบว่า ผู้ป่วย 80 คนนั้นเป็นผู้หญิง 66 คน เป็นผู้ชาย 14 คน อายุเฉลี่ยของกลุ่ม 44.51 ปี ระยะเวลาการเกิดโรคอยู่ระหว่าง 1-120 เดือน มีเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 รายที่มีรอยโรคไลเคนที่ผิวหนังร่วมด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้พบมีไลเคน พลานัสในช่องปาก ชนิดเรติคิวลาร์ (reticular) อย่างเดียว 5 เปอร์เซ็นต์ ชนิดอโทรปิก (atrophic) 33.75% และชนิดอิโรซีฟ (erosive) 61.25% ตำแหน่งในช่องปากที่พบรอยโรคมากที่สุดได้แก่ บริเวณกระพุ้งแก้มด้านใน รองลงไปได้แก่ เหงือก ริมฝีปาก เพดานปาก และลิ้นตามลำดับ ลักษณะเด่นเฉพาะทางคลินิกของไลเคน พลานัสในช่องปาก คือการมีเส้นลายขาวบางปะปนอยู่ในรอยโรคของผู้ป่วย ลักษณะเช่นี้สามารถใช้เป็นข้อพิจารณาให้การวินิจฉัยโรคได้ถึง 96% แต่เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคทางคลินิก และตรวจหาเซลมะเร็งที่อาจเกิดร่วมด้วยจึงควรตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคไปดูลักษณะทางพยาธิ และการติดสีของสารอิมมูโนฟลูโอเรสเซ (immunofluorescent statining) การพบเชื้อรา 21 ใน 23 รายของผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจหาเชื้อรา ไม่ได้เพิ่มปัญหาในการรักษารอยโรคไลเคน พลานัส นอกจากทำให้มีการติดเชื้อราเฉียบพลันขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยาสเตรียรอยด์และการติดเชื้อรานั้นก็สามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลาสั้นๆ โรคทางระบบอื่นที่พบในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้แก่ โรคเบาหวาน ไทรอยด์ โรคกระเพาะ ไขข้ออักเสบ ความดัน โลหิตสูง Trait ของโรคทาลัสซีเมีย (Thalassemia) และกามโรค ส่วนที่ 2 ของการศึกษา เป็นการศึกษาผลของยาในเวลา 1 เดือน ผู้ป่วยที่ได้รับการศึกษามีจำนวน 46 ราย ซึ่งประกอบด้วย อิโรซีพ 22 ราย อโทรปิก 20 ราย และเรติคิวลาร์ 4 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์นับว่าหายจากโรคไลเคน พลานัส หลังใช้ยา F.A.S. มีจำนวนทั้งหมด 19 ใน 25 ราย (76%) และ 10 รายใน 21 ราย (48%) ที่ใช้ T.A.O. ความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วยที่หายหลังจากใช้ยาทั้งสองชนิดไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อแบ่งจำนวนผู้ป่วยออกตามความรุนแรงของรอยโรค ดังนั้น ผลการศึกษาส่วนนี้จึงเป็นเพียงแสดงให้ทราบว่า นอกจากไทรแอมซิโนโลน อเซทโทไนด์ ในออราเบส แล้วยังมีฟลูโอซิโนโลน อเซทโทไนด์ โซลูชั่น 0.1% ที่สามารถนำมาใช้รักษาบันเทาอาการของไลเคน พลานัสในช่องปากโดยที่ยังไม่ปรากฏผลเสียข้างเคียงทางคลินิกที่รุนแรงให้เห็นในระยะเวลาที่ติดตามผลการรักษาเป็นเวลา 1 ปี แต่อย่างไรก็ดีการพิจารณาเลือกใช้ยากับผู้ป่วยแต่ละรายย่อยขึ้นกับสาเหตุหลายอย่าง รวมทั้งความหนา ความชื้นของเยื่อบุผิวตรงที่เกิดรอยโรคลักษณะและชนิดของรอยโรค ความพึงพอใจในรูปแบบ และความเข้าใจในวิธีการใช้ยาของผู้ป่วยและสิ่งที่ควรนึกอยู่เสมอคือ ไม่ว่าจะเป็นสเตียรอยด์เฉพาะที่ชนิดใด ย่อมมีโอกาสทำให้เกิดผลเสียข้างเคียงกับผู้ใช้ได้ทั้งทางระบบและเฉพาะที่