Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาจำนวนของ Foxp3⁺ เรกูลาทอรี ทีเซลล์ และสัดส่วนของ Foxp3⁺ เรกูลาทอรี ทีเซลล์ต่อ CD3⁺ ทีเซลล์ และต่อ CD4⁺ ทีเซลล์ในรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปาก เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบและเนื้อเยื่อปกติ วัสดุและวิธีการ ศึกษาเซลล์ที่มีการแสดงออกของ Foxp3, CD3 และ CD4 โดยใช้วิธีการย้อมอิมมูโนฮิสโตเคมี ในชิ้นเนื้อรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปากจำนวน 20ราย เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบจำนวน 20 ราย และเนื้อเยื่อปกติจำนวน 10 ราย วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อหาความแตกต่างของจำนวนเซลล์ที่มีการแสดงออกของ Foxp3, CD3 และ CD4 และร้อยละของ Foxp3⁺ เรกูลาทอรี ทีเซลล์ต่อ CD3⁺ ทีเซลล์ และต่อ CD4⁺ ทีเซลล์ระหว่างกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สถิติ One-Way ANOVA ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา ปฏิกิริยาที่ให้ผลบวกต่อ CD3, CD4 และ Foxp3 พบได้ในโมโนนิวเคลียร์เซลล์ในชั้นใต้เยื่อบุผิวของเนื้อเยื่อรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปาก เนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบ และเนื้อเยื่อปกติทั้งหมด ส่วนภายในชั้นเยื่อบุผิวนั้น Foxp3⁺ เซลล์ในลิมโฟไซต์พบในผู้ป่วยไลเคน แพลนัสในช่องปากทุกราย ขณะที่เนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบ และเนื้อเยื่อปกติพบใน 18 ราย (ร้อยละ90) และ 8 ราย (ร้อยละ 80) ตามลำดับ นอกจากนี้จำนวนของ Foxp3⁺ เซลล์ CD3⁺ ทีเซลล์ และ CD4⁺ ทีเซลล์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างทั้ง 3 กลุ่ม โดยเซลล์เหล่านี้พบได้มากที่สุดในรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปาก รองลงมา คือ เนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบ และเนื้อเยื่อปกติ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสัดส่วนของ Foxp3⁺ เซลล์ต่อ CD3⁺ ทีเซลล์หรือ CD4⁺ ทีเซลล์ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างทั้ง 3 กลุ่ม เมื่อพิจารณาจากชนิดของโรคไลเคน แพลนัสในช่องปาก พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนของ CD3⁺ ทีเซลล์ CD4⁺ ทีเซลล์ และ Foxp3⁺ เซลล์ และสัดส่วนของ Foxp3⁺ เซลล์ต่อ CD3⁺ ทีเซลล์หรือ CD4⁺ ทีเซลล์ระหว่างรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปากชนิดร่างแห และชนิดฝ่อลีบหรือแผลถลอก สรุป จำนวน Foxp3⁺เรกูลาทอรี ทีเซลล์มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Foxp3⁺ เรกูลาทอรี ทีเซลล์อาจมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดพยาธิสภาพของรอยโรคไลเคน แพลนัสในช่องปาก