Abstract:
การตรวจสอบหายาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรซ์ 323 ตัวอย่าง ยูเอชที 330 ตัวอย่าง น้ำนมดิบจากถังนมรวมของเกษตรกร 515 ตัวอย่าง จากโคนมปกติ 200 ตัวอย่าง และจากโคนมที่มีอาการเต้านมอักเสบก่อนให้การรักษา 50 ตัวอย่าง โดยวิธี Microbial inhibition disk method และใช้ชุด ตรวจสอบ Delvotest-P[superscript R] พบว่าอัตราการให้ผลบวกลดลง 42: 1-100% หลังจากการอุ่นตัวอย่างน้ำนมที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 3 นาที ก่อนทำการตรวจสอบแสดงว่าผลบวกเท็จที่เกิดขึ้นน่าจะมีสาเหตุจากสารยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรียตามธรรมชาติในน้ำนม (Natural inhibitors) เช่น Lysozyme และ Lactoferrin เป็นต้น โดยที่สารเหล่านี้ไม่สามารถทนความร้อนได้ ดังนั้น การอุ่นน้ำนมก่อนการตรวจสอบหายาปฏิชีวนะโดยวิธีทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ อย่างไรก็ดีพบว่าการอุ่นน้ำนมอาจทำให้เกิดผลลบเท็จได้เช่นกัน ซึ่งการศึกษานี้พบว่าอัตราการผลลบเท็จเกิดขึ้น 12.8-13.6 % ในตัวอย่างน้ำนมที่มีอาการเต้านมอักเสบและกำลังรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ปริมาณของ Somatic cell count (SCC) ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับผลการตรวจสอบหายาปฏิชีวนะโดยวิธีทั้งสองดังกล่าวในการศึกษานี้ แต่การอุ่นตัวอย่างน้ำนมที่มี SCC สูงก่อนการตรวจสอบสามารถลดอัตราการเกิดผลบวกเท็จได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในการทดสอบประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบหายาปฏิชีวนะพบว่าค่า Specificity ของทั้งสองวิธีเท่ากันคือ 92.50 % แต่ Microbial inhibition disk method มีค่า Sensitivity เท่ากับ 98.85 % สูงกว่าของ Delvotest-P[superscript R] ซึ่งเท่ากับ 93.10 %