Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเกิดปัญญาในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพแบบการศึกษาเฉพาะกรณีและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับ 10 กรณีศึกษาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเลือก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้บทสนทนาในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธของกรณีศึกษา การสัมภาษณ์เชิงลึก บันทึกประสบการณ์ และการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 แสดงการเกิดขึ้นของปัญญาในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทะ การเกิดขึ้นของปัญญาในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทะมีลักษณะเป็นขั้นตอนต่อเนื่องตามลำดับ โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างผู้รับการปรึกษาและนักจิตวิทยาการปรึกษาแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงหลักๆ ได้แก่ ช่วงที่ 1 ฝ่ายทุกข์ ซึ่งประกอบด้วย 1) การกำหนดรู้ทุกข์ คือ การรู้ทุกข์ การรู้โทษของทุกข์ และการอยากกำจัดทุกข์ 2) การกำหนดรู้สาเหตุของทุกข์ ด้วยการตระหนักรู้ในระดับเหตุผล ช่วงที่ 2 ฝ่ายพ้นทุกข์ ซึ่งประกอบด้วย 1) จุดเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งมีใน 2 ลักษณะคือ เกิดขึ้นมาเองกับการตระหนักรู้สาเหตุแห่งทุกข์ในระดับปัญญา 2) ปัญญา ซึ่งมีใน 2 ลักษณะคือ ปัญญาแบบฉับพลันและแบบค่อยๆมา เป็นผลให้สามารถละต้นเหตุของทุกข์ คลายทุกข์ และอยู่อย่างกลมกลืนกับความเป็นจริง ส่วนที่ 2 ลักษณะการแสดงออกของปัญญาที่เกดขึ้นจากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธมี 3 ลักษณะ ได้แก่ ปัญญาในการรู้เท่าทันความทุกข์และเหตุของทุกข์ ปัญญาในการละสาเหตุของทุกข์และการอยู่กับความจริงได้อย่างกลมกลืน และการมีภาวะใจที่เป็นอิสระจากความบีบคั้น ส่วนที่ 3 แสดงถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดปัญญาในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ ประกอบด้วยปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ นักจิตวิทยาการปรึกษา เพื่อนและสมาชิกกลุ่ม สภาพแวดล้อม คนรอบข้าง ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ การพิจารราด้วยใจอันสงบนิ่งของผู้รับการปรึกษา