Abstract:
ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากว่านพญาวานร ในการต้านออกซิเดชันและปกป้องเซลล์ตับ ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วย hydrogen peroxide (H₂O₂) โดยศึกษาในเซลล์ HepG2 ร่วมกับการวิเคราะห์ส่วนประกอบของสารสกัด ผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากว่านพญาวานรประกอบด้วยสารประกอบฟีนอลและสารประกอบฟลาโวนอยด์ ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันด้วยวิธี 1,1- diphenyl-2-picrylhydrazyl radicals (DPPH) assay, ferric reducing antioxidant power (FRAP) assay และ H₂O₂ scavenging assay พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันน้อยกว่าวิตามินซี ผลการศึกษาฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับ เมื่อให้สารสกัดที่ความเข้มข้น 1, 5, 10, 25 และ 50 µg/mL ร่วมกับ H₂O₂ 100 µM แก่เซลล์ HepG2 เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นวัดอัตราการมีชีวิตรอดของเซลล์ด้วยวิธี MTT (3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyl tetrazolium bromide) assay วัดปฏิกิริยา lipid peroxidation และความเป็นพิษต่อเซลล์โดยการวัดระดับ malondialdehyde (MDA) และ LDH (lactate dehydrogenase) ตามลำดับ รวมทั้งวัดปริมาณของ reactive oxygen species (ROS) ภายในเซลล์ โดยใช้สาร 2',7'-dichlorofluorescein diacetate (DCFH-DA) และวัดระดับของ glutathione (GSH) พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น โดยเฉพาะที่ความเข้มข้น 1, 5 และ 10 µg/mL มีผลทำให้ระดับ ROS ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อัตราการรอดชีวิตของเซลล์ (MTT assay) และระดับเอนไซม์ LDH รวมทั้งปฏิกิริยา lipid peroxidation และระดับ GSH ของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดและกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการทดลองดังกล่าวสรุปได้ว่า สารสกัดจากว่านพญาวานรมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้น้อยมาก จึงไม่มีผลในการปกป้องเซลล์ตับที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชันด้วย H₂O₂