Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายรายได้และรายจ่าย และศึกษาผลกระทบของนโยบายรายได้และรายจ่าย ด้วยวิธีการวัดแรงกระตุ้นทางการคลัง ของ 4ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ โดยอาศัยวิธีการศึกษาเชิงสถิติพรรณาและใช้แบบจำลองที่ดัดแปลงมาจากการวิเคราะห์ของ The German Council of Economic Expert :GCEE ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งใช้ข้อมูลทุติยภูมิรายปี ตั้งแต่ ปี 1987-2009 ผลการศึกษาในส่วนแรก พบว่า ทั้ง 4 ประเทศมีโครงสร้างทางการคลังแบบต่อต้านวัฎจักรเศรษฐกิจ แต่ในบางกรณีที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลัง เนื่องจากมีความล่าช้าในกระบวนการอนุมัติโครงการ และความเสี่ยงจากการรั่วไหล โครงสร้างทางการคลังจึงมีลักษณะผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ส่วนผลการศึกษาในส่วนที่สอง พบว่า ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997 (ปี 1987-1996) เศรษฐกิจในแต่ละประเทศขยายตัวในระดับสูง ทำให้ค่าแรงกระตุ้นทางการคลังโดยเฉลี่ยมีค่าเป็นลบ ยกเว้น อินโดนีเซียที่มีเป็นบวก ต่อมา ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 ค่าแรงกระตุ้นทางการคลังใน ปี 1998 ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์มีค่าเป็นบวก ในขณะที่ อินโดนีเซียมีค่าเป็นลบ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศต่างๆจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่อินโดนีเซียประสบกับปัญหาหนี้สาธารณะทำให้ต้องตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ส่วนช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2009 ไทยมีค่าแรงกระตุ้นทางการคลังสูงสุด อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากงบไทยเข้มแข็ง รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ เน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียมีค่าแรงกระตุ้นทางการคลังใกล้เคียงกัน โดยผลในทางขยายตัวของอินโดนีเซีย เกิดจากด้านรายได้ ส่วนมาเลเซียเกิดจากด้านรายจ่าย เนื่องจากอินโดนีเซียประสบกับปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ