Abstract:
ศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวโรเจอร์ส ที่มีต่อความสุขของเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ โดยมีสมมติฐานการวิจัยดังนี้ (1) หลังการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม เด็กกำพร้ามีความสุขมากขึ้นกว่าก่อนได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (2) หลังการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม เด็กกำพร้าในกลุ่มทดลองมีความสุขมากกว่า เด็กกำพร้าที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมมีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นกำพร้าหญิงที่อยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี จำนวน 16 คน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างสุ่มจากผู้ที่มีคะแนนความสุข ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -1.0 SD สุ่มเป็นกลุ่มทดลอง 8 คน และกลุ่มควบคุม 8 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามแนวโรเจอร์ส มีระยะเวลา 3 วันสองคืน รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ชั่วโมงโดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบวัดความสุขที่พัฒนามาจากแบบวัดความสุข OHI (The Oxford Happiness Inventory) ของ Argyle, Martin และ Crossland วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความสุข ด้วยวิธีการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการทดลอง เด็กกำพร้าที่เข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ตามแนวโรเจอร์ส มีคะแนนความสุขสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามแนวโรเจอร์ส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. หลักการทดลอง เด็กกำพร้าที่เข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามแนวโรเจอร์ส มีคะแนนความสุขสูงกว่าเด็กกำพร้า ที่ไม่ได้เข้ากลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามแนวโรเจอร์ส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05