Abstract:
ศึกษาผลของการเสนอสารตามแนวทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อป้องกันโรค และการให้แรงสนับสนุนทางสังคม ที่มีต่อพฤติกรรมออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ และวิทยาลัยพยาบาลกองทัพอากาศ สถาบันละ 40 คน รวมจำนวน 120 คน จัดแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง ที่ได้รับการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม กลุ่มทดลองที่ได้รับสารเพียงอย่างเดียว และกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับทั้งสารและแรงสนับสนุนทางสังคม ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการเสนอสาร ผู้ที่ได้รับการเสนอสารมีการรับรู้ความร้ายแรงของโรคกระดูกพรุน การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองด้านการออกกำลังกายแบบรับน้ำหนัก และความเชื่อมั่นในประสิทธิผลของการปฏิบัติตน เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยการออกกำลังกายแบบรับน้ำหนัก สูงกว่าก่อนการเสนอสาร 2. ผู้ที่ได้รับการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม มีความตั้งใจที่จะออกกำลังกายแบบรับน้ำหนัก หลังการเสนอสารสูงกว่าก่อนการเสนอสาร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลเช่นนี้ไม่พบในกลุ่มผู้ที่ได้รับการเสนอสารเพียงอย่างเดียว 3. ผู้ที่ได้รับการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม มีพฤติกรรมการออกกำลังกายแบบรับน้ำหนักหลังการเสนอสาร สูงกว่าก่อนการเสนอสาร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ผลเช่นนี้ไม่พบในกลุ่มผู้ที่ได้รับการเสนอสารเพียงอย่างเดียว 4. หลังการเสนอสาร ผู้ที่ได้รับการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม มีความตั้งใจที่จะออกกำลังกายแบบรับน้ำหนัก มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับทั้งการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างผู้ที่ได้รับการเสนอสารเพียงอย่างเดียวกับ ผู้ที่ไม่ได้รับทั้งการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม 5. ผู้ที่ได้รับการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม และผู้ที่ได้รับการเสนอสารเพียงอย่างเดียว มีพฤติกรรมออกกำลังกายแบบรับน้ำหนักอย่างต่อเนื่อง มากกว่าผู้ที่ได้รับทั้งการเสนอสารและแรงสนับสนุนทางสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับการเสนอสาร และแรงสนับสนุนทางสังคม กับผู้ที่ได้รับการเสนอสารเพียงอย่างเดียว