Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงต่อการเผชิญความเครียดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีสมมติฐานการวิจัย คือ (1) หลังการทดลองผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มจะมีคะแนนการเผชิญความเครียดด้านมุ่งเน้นการแก้ปัญหาและด้านมุ่งเน้นทางอารมณ์ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกลุ่มและสูงกว่าคะแนนของกลุ่มควบคุม (2) หลังการทดลองผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มจะมีคะแนนการเผชิญความเครียดด้านการหลีกเลี่ยงปัญหาต่ำกว่าก่อนเข้าร่วมกลุ่มและต่ำกว่าคะแนนของกลุ่มควบคุม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (pretest-posttest control group design) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 16 คน ซึ่งสุ่มจากผู้ติดเชื้อที่ได้คะแนนจากแบบวัดการเผชิญความเครียดในด้านมุ่งเน้นการแก้ปัญหาและด้านมุ่งอารมณ์ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 30 และต่ำกว่า และคะแนนในด้านการหลีกเลี่ยงปัญหาที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 70 และสูงกว่า สุ่มเป็นกลุ่มทดลอง 8 คน กลุ่มควบคุม 8 คน กลุ่มทดลองได้เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาความเป็นจริงทั้งหมด 8 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน สัปดาห์ละ 2 ถึง 3 ครั้งๆ ละ 2.30 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการคือแบบวัดการเผชิญความเครียด (The ways of Coping Questionnaire) ซึ่งพัฒนามาจากแบบวัดการเผชิญความเครียดของโฟล์คแมนและลาซารัส วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนการเผชิญความเครียดด้วยวิธีการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า (1) หลังการทดลองผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม มีคะแนนการเผชิญความเครียดด้านมุ่งเน้นการแก้ปัญหาและด้านมุ่งเน้นทางอารมณ์ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่มและสูงกว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (2) หลังการทดลองผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม มีคะแนนการเผชิญความเครียดด้านมุ่งเน้นการแก้ปัญหาและด้านมุ่งเน้นทางอารมณ์ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่มและสูงกว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (2) หลังการทดลองผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม มีคะแนนการเผชิญความเครียดด้านการหลีกเลี่ยงปัญหาต่ำกว่าก่อนเข้ากลุ่มและต่ำกว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01