Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบจากการลงทุนในเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วนที่หนึ่งเป็นการบรรยายถึงความจำเป็นของการลงทุนในอุตสาหกรรมเอทานอลในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันในระยะยาว(Long-term Insurance) ให้กับพลังงานของประเทศ ส่วนที่สองเป็นการศึกษาเชิงปริมาณโดยใช้ตารางเมตริกซ์บัญชีสังคมในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีต่อปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิตของสาขาการผลิตต่างๆและมีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเกี่ยวกับระดับการลงทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ผลการศึกษาจากการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเอทานอลส่งผลต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำที่ผลิตวัตถุดิบที่จะต้องมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชพลังงาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง และถ้ามีการเพิ่มการผลิตพืชพลังงานก็จะทำให้การจ้างงานและการใช้ปัจจัยทุนในการผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลไปถึงครัวเรือนภาคเกษตรที่มีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการพืชพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพืชพลังงานเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในสาขาการผลิตต่างๆโดยเฉพาะสาขาการผลิตที่มีการใช้อ้อยและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ส่วนในสาขาการผลิตอื่นๆที่ไม่ได้ใช้อ้อยและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบก็จะได้รับผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตผ่านทางการใช้น้ำมันในการผลิตซึ่งจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากปริมาณของเอทานอลยังมีสัดส่วนที่น้อยมากในสาขาการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะดังนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น ภาครัฐควรมีมาตราการรักษาอุปทานของพืชพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยเป็นการลดการส่งออกพืชพลังงาน ส่วนในระยะยาวควรมีการปรับยุทธศาสตร์พืชพลังงานเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างเพียงพอ โดยภาครัฐควรมีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น หรือเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูก