Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา เพื่อประมาณประสิทธิภาพการผลิตทางเทคนิคในอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังของไทย ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย คือ หนังฟอกแต่งสำเร็จ รองเท้าหนัง รองเท้ากีฬา กระเป๋าหนัง และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง โดยใช้ฟังก์ชัน Translog Stochastic Production Frontier ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ทดสอบระดับความมีประสิทธิภาพการผลิตทางเทคนิคของหน่วยผลิต ภายใต้แบบจำลอง Time Varying Inefficiency Effect Model โดยสมมติให้ปัจจัยซึ่งแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพการผลิตทางเทคนิค มีการกระจายแบบอิสระ และเป็นการกระจายแบบ Truncated Normal ผลการประมาณฟังก์ชันขอบเขตการผลิตชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์หนังฟอกแต่งสำเร็จ รองเท้ากีฬา และกระเป๋าหนัง มีรูปแบบการผลิตที่พึ่งพาการใช้ปัจจัยทุนเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้าหนังและเครื่องใช้สำหรับเดินทาง มีรูปแบบการผลิตที่พึ่งพาการใช้ปัจจัยแรงงานเป็นหลัก และอัตราความก้าวหน้าทางเทคนิคในกลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้าหนังและรองเท้ากีฬามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์หนังฟอกแต่งสำเร็จ กระเป๋าหนัง และเครื่องใช้สำหรับเดินทางมีแนวโน้มลดลง ผลการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรที่ใช้อธิบายความไม่มีประสิทธิภาพ มีนัยสำคัญทางสถิติแตกต่างกันตามตัวแปรอายุ ขนาดของหน่วยผลิต ความเข้มข้นของทุน สัดส่วนของแรงงานที่ไม่ได้ใช้ในการผลิตต่อแรงงานทั้งหมด สัดส่วนของสินค้าส่งออกต่อสินค้าทั้งหมด สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด และตัวแปรหุ่นสำหรับชนิดของหน่วยผลิต นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าหน่วยผลิตในอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังมีระดับประสิทธิภาพแตกต่างกันตั้งแต่ร้อยละ 0.8 ถึงร้อยละ 100 และระดับประสิทธิภาพเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 18 ถึงร้อยละ 67.7