Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่ากำลังแรงยึดแบบดึงระดับจุลภาคของวัสดุเรซินคอมโพสิตชนิดไซลอเรน (ฟิลเทค พี 90 3 เอ็ม อีเอสพีอี) ที่ถูกซ่อมแซมด้วยเรซิน คอมโพสิตที่แตกต่างกัน 2 ชนิด และจากการเตรียมพื้นผิวที่แตกต่างกัน 2 แบบ วัสดุที่ใช้ซ่อมแซมคือ วัสดุเรซินคอมโพสิตชนิดเมทาไครเลต (ฟิลเทค แซด 250 3 เอ็ม อีเอสพีอี) และ วัสดุเรซินคอมโพสิตชนิดไซลอเรน การเตรียมพื้นผิวใช้กระดาษทรายที่ความหยาบต่างกัน เตรียมชิ้นงานวัสดุเรซินคอมโพสิตชนิดไซลอเรน รูปแผ่นวงกลมที่ผ่านการจำลองอายุการใช้งาน โดยการเทอร์โมไซคลิงจำนวน 5,000 รอบ แบ่งกลุ่มการทดลองดังนี้ กลุ่มที่ 1 และ 2 ใช้เรซินคอมโพสิตชนิดเมทาไครเลตในการซ่อมแซม และใช้กระดาษทรายเบอร์ 80 และ 600 ตามลำดับ กลุ่มที่ 3 และ 4 ใช้เรซินคอมโพสิตชนิดไซลอเรนในการซ่อมแซม และใช้กระดาษทรายเบอร์ 80 และ 600 ตามลำดับ มีการใช้สารยึดติดในการซ่อมแซมตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต และสอดคล้องกับชนิดของเรซินคอมโพสิตที่ใช้ซ่อมแซม ส่วนกลุ่มควบคุม คือกลุ่มที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมใดๆ หลังจากเก็บตัวอย่างในน้ำที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือผ่านการเทอโมไซคลิงจำนวน 5,000 รอบ นำชิ้นงานมาเตรียมให้มีรูปร่างนาฬิกาทราย ที่มีพื้นที่หน้าตัดสำหรับการยึดติด ประมาณ 1 ตารางมิลลิเมตร จำนวน 20 ชิ้นต่อกลุ่ม การทดสอบกำลังแรงยึดแบบดึงระดับจุลภาคใช้ความเร็ว 1 มิลลิเมตรต่อนาที นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง และใช้การทดสอบแทมเฮนส์เปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยแบบพหุคูณ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่า ทุกกลุ่มที่ได้รับการซ่อมแซมมีค่ากำลังแรงยึดแบบดึงระดับจุลภาคต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีค่าแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับการซ่อมแซม การจำลองอายุการใช้งานหลังการซ่อมแซม ส่งผลต่อค่ากำลังแรงยึดแบบดึงระดับจุลภาคอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะในกลุ่มที่ได้รับการซ่อมแซม